กรมอนามัย ชี้ฝุ่น PM2.5 อันตรายหากสูดรับระยะยาวเสี่ยงป่วยมะเร็ง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ว่า พบมากกว่า 19 จังหวัดยังมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) กระจายในภาคต่างๆ สถานการณ์เช่นนี้ ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้น เช่น แสบตา แสบจมูก ระคายเคืองตา หรือภูมิแพ้กำเริบเท่านั้น แต่หากได้รับในปริมาณมากระยะยาวจะส่งผลกระทบทำให้เกิดโรค ทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้ 

เมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย นอกจากฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายแล้ว ยังเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ในเซลล์ของปอด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ในระยะยาว อีกทั้ง PM2.5 ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น โพลิไซคลิกอโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน 

สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ระบุว่า มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์ได้ โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการณ์ในปี 2559 ว่าไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศถึง 6,330 ราย สำหรับการเจ็บป่วย พบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากรายงานการเจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศของคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 พบรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอด 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร

จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 โดยลดกิจกรรมนอกบ้าน เมื่อต้องออกนอกอาคาร ควรตรวจสอบค่าฝุ่นก่อน ผ่านแอปพลิเคชัน “Air4thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5”ควรใส่หน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM 2.5 งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงในที่ที่มีฝุ่นมาก งดสูบบุหรี่ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ แสบจมูก แสบคอ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย หรือไอ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที พร้อมขอประชาชนช่วยกัน ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

ที่มา  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210205103908552


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar