ศบค. ย้ำการดูแลตัวเองขั้นสูงสุด หลังคาดการณ์ว่าการล็อกดาวยังไม่สามารถช่วยให้ผู้ติดเชื้อหมดไปได้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังไม่คงที่สะท้อนให้เห็นว่า การล็อกดาวยังไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก นอกจากการป้องกันตัวเองส่วนบุคคล universal prevention หรือการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล โดยเมื่อออกจากบ้านให้คิดเสมอว่าคนรอบตัวเราติดเชื้อ รวมถึงมาตรการทางสังคมที่ขอความร่วมมืองดการสังสรรค์ร่วมกัน ควบคุมการเดินทางให้น้อยลง ส่วนพื้นที่เสี่ยง ศบค. พบว่า การจัดงานศพ ร้านอาหาร การจัดงานอีเว้นท์ ตลาด โรงงาน สถานประกอบการ แคมป์คนงานก่อสร้าง ตลาดนัด ยังพบว่ามีการแพร่ระบาดในกลุ่มนี้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงโครงการภูเก็ต sandbox ว่า วันนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่ม 284 คน แต่พบว่าสถิติผู้ติดเชื้อรายวันในพื้นที่ 229 ราย แต่ยังไม่พบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติติดเชื้อ โดยสาธารณสุขจังหวัด ยืนยันยังสามารถรับมือได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการแข็งแรงดี อยู่ในกลุ่มสีเขียว ส่วนจำนวนคืนของนักท่องเที่ยวที่เข้าพักใน 7+7 Extension เชื่อมต่อการท่องเที่ยวจากจังหวัดภูเก็ต ไปที่เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี/เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา/ เกาะพีพี/ไร่เลย์ เกาะไหง จังหวัดกระบี่ รวม 7,135 คืน ช่วยให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวดีขึ้น

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีผู้กระทำผิดออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว การดื่มสุราร่วมกัน มั่วสุมเล่นการพนัน หากมีใครพบเห็นผู้ฝ่าฝืนในลักษณะดังกล่าวสามารถแจ้งได้ที่ 191 หรือ 1599 สายด่วน ศปม. 1138 , หรือ ศูนย์ประสานงานด้านโควิดกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนการเปิดประเทศ ผอ.ศบค. ได้สั่งการให้มองถึงช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวภาคปกติ คือ ไตรมาส 4 ของทุกปี จะต้องมีการเตรียมอะไรอย่างไร ต้องอยู่กับโควิดไปเรื่อยๆ จะต้องปรับตัว ขอให้เตรียมความพร้อมให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งคนไทยและต่างชาติ เพื่อที่จะได้ท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น หรือไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยจะต้องไปดูพื้นที่ก่อน จะต้องประกาศพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวปลอดภัยจากโรคโควิด -19 หรือ covid free tourist area sandbox ว่ามีพื้นที่ใดจะสามารถเปิดได้ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปพิจารณาร่วมกัน เช่น พื้นที่เกาะ หรือพื้นที่ที่มีสนามบิน ต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันควบคุมโควิดในพื้นที่นั้นๆ แต่ต้องดูความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ด้วย ทั้งเรื่องของจำนวนผู้ฉีดวัคซีนและจํานวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ขีดความสามารถในการรักษา มีเตียง บุคลากรทางการแพทย์ ในพื้นที่เพียงพอหรือไม่เมื่อเกิดการระบาดขึ้นมาจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กำหนดพื้นที่นำร่อง แบ่งเป็น 2 ระยะ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป หากมีสถานที่พร้อมให้สามารถเปิดได้เลย ส่วนระยะที่ 2 อาจจะเป็นพื้นที่อื่นๆ ช่วงวันที่ 15 ตุลาคม หรือ 1 พฤศจิกายน ไปแล้ว 

ที่มา  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210915141004250


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar