นายกฯ กล่าวปาฐกถางาน UK-Thailand Financial Conference ย้ำบทบาทสำคัญของภาคการเงินต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

วันนี้ (28 มีนาคม 2567) เวลา 12.00 น. ณ ห้องบอลรูม ชั้น B1 โรงแรม Park Hyatt Bangkok นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา UK-Thailand Financial Conference ภายใต้หัวข้อ “The Changing Roles of the Financial Sector in Thailand’s Economic Development” 

โดยภายหลังเสร็จสิ้น นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้

 

นายกรัฐมนตรียินดีกับการกล่าวปาฐกถาพิเศษบทบาทของภาคการเงินในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยภาคการเงินถูกมองว่าเป็นตัวกลางระหว่างผู้ฝากและผู้กู้ยืม ผู้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม และผู้จัดการความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ภาคการเงินได้มีวิวัฒนาการกลายมาเป็นภาคส่วนที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความสำคัญบางประการของภาคการเงินต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ดังนี้

 

1. การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน หรือ Digitalization ซึ่งในภาคการเงินมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่นำระบบ PromptPay มาใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบายในการชำระและโอนเงิน ส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านการทำธุรกรรมทางโทรศัพท์ (mobile transactions) และ E-commerce 

 

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของระบบการชำระเงินได้ปูทางสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น และสร้างโอกาสใหม่ให้แก่ธุรกิจ ผ่านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของไทยกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจและผู้คน โดยรัฐบาลมุ่งมั่นขยายความเชื่อมโยงให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงผลักดันกรอบการดำเนินงานที่ครอบคลุมการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยที่ภาคส่วนอื่น ๆ สามารถมีส่วนร่วมได้

 

2. ความยั่งยืน (Sustainability) รัฐบาลมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond), พันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond), พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond), พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) รวมถึงกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund) เพื่อสนับสนุนการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

รัฐบาลยังได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนรุ่นแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ออกโดยรัฐบาล เมื่อปี 2563 ซึ่งสามารถระดมทุนได้ถึง 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังความสำเร็จดังกล่าว รัฐบาลได้เปิดตัวพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนชุดที่ 2 ซึ่งสามารถระดมทุนได้อีกกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลได้จัดสรรเงินเหล่านี้ไปสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการริเริ่มเพื่อพัฒนาสังคมที่สำคัญ เช่น โครงการสนับสนุนการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ รัฐบาลยังดำเนินการเพื่อสร้างตลาดคาร์บอนด้วย

 

3. ประชากรสูงวัยโลก (Global Aging Population) ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่ (Super Aged Society) ทำให้ในปี 2577 ไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 28% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) แรงงานลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้การผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง 2) ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงวัยอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากเงินออมหลังเกษียณไม่เพียงพอ และ 3) การใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้แก่ผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้น และอาจเป็นความท้าทายทางการเงินในระยะยาว

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ระบบบำนาญของไทยครอบคลุมแรงงานทั้งในและนอกระบบ ผ่านโครงการภาคบังคับ (Mandatory) และภาคสมัครใจ (Voluntary) ตามแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางรายได้แบบหลายเสา (multi-pillar income security) ของธนาคารโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับผู้เกษียณอายุที่เคยทำงานในภาครัฐและเอกชน โดยภาคการเงินมีบทบาทในการจัดการเงินบำนาญอย่างรอบคอบ พร้อมจัดหาผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนที่เหมาะสม รวมถึงดึงดูดให้เกิดการออมมากขึ้น

 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงในภาคการเงินของไทยเป็นข้อพิสูจน์ถึงนวัตกรรมและความมุ่งมั่นร่วมกัน และเมื่อมองไปยังอนาคต ไทยจะยังคงใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน และไม่แบ่งแยก โดยพร้อมทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่งและฟื้นตัวได้

 

อนึ่ง งานสัมมนา UK-Thailand Financial Conference จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการเงินและธุรกิจระหว่างสองประเทศ โดยจะมีการเสวนาเชิงลึกในประเด็นเศรษฐกิจยั่งยืนและบทบาทของสถาบันการเงินในยุคเปลี่ยนผ่านใน 2 หัวข้อ ได้แก่ 1. บทบาทของภาคการเงินสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน และ 2. โฉมใหม่ของบริการทางการเงิน: ภัยคุกคามทางไซเบอร์และปัญญาประดิษฐ์

ที่มา : รัฐบาลไทย


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar