การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ครั้งที่ 1/2563 วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า

ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ครั้งที่ 1/2563 

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน  2563 

ห้องประชุมหอศิลป์พิมานทิพย์ ชั้น 2 บริเวณตำหนักทิพย์พิมาน .นครราชสีมา

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ครั้งที่ 1/2563 ในวันนี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของ คณะกรรมการฯ ที่ทรงมีพระวินิจฉัยปรับปรุงให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และประสบผลสำเร็จ โดยทรงมีพระกรุณาธิคุณ รับเป็นประธานต่อเนื่อง และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงร่วมเป็นรองประธานกรรมการฯ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าและพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ 
    การประชุมวันนี้นับเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดปรับปรุงใหม่ โดยมีระเบียบวาระการประชุม 4 วาระ ได้แก่ 1) เรื่องที่ประธานทรงแจ้งให้ที่ประชุมทราบ  2) เรื่องเสนอเพื่อทราบ  5 เรื่อง ได้แก่ 2.1) ศาสตราจารยดร.สมเด็จพระน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระวินิจฉัยองค์ประกอบคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ชุดปรับปรุง 2.2) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งที่ 354/2563 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการฯ รวม 40 ท่าน ตามที่ทรงมีพระวินิจฉัย 
2.3) รายงานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 2.4) รายงานผลการดำเนินงานมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่งในพระอุปภัมภ์ฯ ประจำปี 2562
2.5) รายงานผลการปฏิบัติงานหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เดือนมกราคม 2562 - เดือนมกราคม 2563  3) ระเบียบวาระที่ 3  เรื่องสืบเนื่องและพิจารณา มี 1 เรื่อง ได้แก่ รายงานผลการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย ตามพระปณิธานฯ ประจำปี 2560 - ปี 2563 ประเด็น 8 ยุทธศาสตร์ ซึ่งกรรมการที่รับผิดชอบจะได้ขอพระราชทานพระอนุญาตกราบทูลรายงาน 4) ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเสนอพิจารณามี 2 เรื่อง  4.1) แนวทางการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ปี พ.ศ. 2564 – พ.ศ. 2568 เพื่อความยั่งยืน 4.2) (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ สัตว์ปลอดโรค  คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ

โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า

ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

น้ำพระทัยจากเจ้าฟ้าฯ ที่ทรงห่วงใยคนไทย และสรรพชีวิตบนผืนแผ่นดิน

 

ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ครั้งทรงงานด้านการตรวจรักษาสัตว์เลี้ยงให้แก่ประชาชน ณ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทรงตระหนักถึงปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า     ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต โดยทรงห่วงใยในสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย จึงทรงมีพระปณิธานที่จะให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย โปรดให้ดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค   คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยมีพระประสงค์ให้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๓ เป็นต้นไป โดยทรงรับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯและพระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงเป็นรองประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯจากหน่วยงานต่างๆซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี โดยมีแผนการดำเนินงานในระยะที่ ๑ เป็นเวลา ๔ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๓ การดำเนินโครงการฯใช้หลักการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) แบ่งยุทธศาสตร์การดำเนินงานเป็น ๘ ยุทธศาสตร์ และมีผลการดำเนินงานดังนี้ 

  1. การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเครือข่าย ร่วมกันดำเนินกิจกรรม เพื่อควบคุมการระบาดของโรคในพื้นที่ตรวจพบโรค ดำเนินการทำหมันสุนัขและแมวกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ตัว  พัฒนาอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า ประมาณ ๙๐,๐๐๐ คน ผลการดำเนินงานในโครงการฯทำให้ตรวจพบสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าลดลงเป็นลำดับ จาก ร้อยละ ๑๕.๓๔ ในปี ๒๕๖๑  เหลือเพียงร้อยละ ๓ ในปี ๒๖๕๖๓

  1. การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์

โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดทำร่างมาตรฐานสถาน พักพิงสัตว์สำหรับประเทศไทย และจังหวัดเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ จัดสร้างหรือปรับปรุงศูนย์พักพิงสุนัขต้นแบบตามภาคต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่

  1. ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์พักพิงสุนัขต้นแบบขนาดใหญ่ ดำเนินแล้วเสร็จ และรองรับสุนัขได้ประมาณ ๓,๐๐๐ ตัว 
  2. ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดจังหวัดอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นศูนย์พักพิงสุนัขต้นแบบขนาดเล็ก ดำเนินการแล้วเสร็จ รองรับสุนัขได้ประมาณ ๒๐๐ ตัว 
  3. ศูนย์พักพิงสุนัขและแมวจรจัดในสังกัดกรุงเทพมหานคร เขตประเวศ กรุงเทพฯ และ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เป็นศูนย์พักพิงสัตว์ขนาดใหญ่ ดำเนินการแล้วเสร็จ รองรับสุนัขและแมวได้ประมาณ ๘,๐๐๐ ตัว 
  4. ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในระหว่างดำเนินการ 

การดำเนินงานของศูนย์พักพิงสัตว์ต่างๆภายใต้โครงการฯ ได้ให้การช่วยเหลือ เลี้ยงดู       สุนัขจรจัด หรือที่กำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ ช่วยชุบชีวิตใหม่ให้แก่สัตว์ที่กำลังประสบชะตากรรมด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งยังได้แก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในบางชุมชน  

  1. การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน 

โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่าย ดำเนินงานเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าในคน อาทิการเปิดศูนย์ตระหนักรู้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า การพัฒนาระบบฐานข้อมูลรายงานผู้มารับวัคซีน เป็นต้น ดำเนินงานป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน อาทิ การจัดหาวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า           เพื่อป้องกันโรคล่วงหน้า การอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร เป็นต้น ดำเนินงานด้านการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในคน อาทิ การปรับเวชปฏิบัติในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันโรคล่วงหน้า การติดตามผู้สัมผัสสัตว์ยืนยัน ให้เข้าฉีดวัคซีนได้ร้อยละ ๙๙.๙ เป็นต้น นอกจากนั้นยัง  บูรณาการการทำงานร่วมกับเครือข่าย เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าแก่ประชาชน การดำเนินงานต่างๆเหล่านี้ ส่งผลให้จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าลดลงจาก     ๑๘ ราย ในปี ๒๕๖๑ เหลือ ๓ รายในปี ๒๕๖๓ 

  1. การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น
    โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และเครือข่าย ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในระดับท้องถิ่น ได้แก่ การสำรวจประชากรสุนัขและแมว     การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การออกเทศบัญญัติการเลี้ยงสัตว์ในชุมชน การจัดโครงการประกวดท้องถิ่นที่มีผลการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าดีเด่น (Thailand Rabies Awards) เป็นต้น ผลการดำเนินโครงการฯ ก่อให้เกิดการตื่นตัว และความร่วมมือในการที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าของชุมชน 
  2. การประชาสัมพันธ์

โดยกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี และเครือข่าย ดำเนินการขับเคลื่อนด้าน             การประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนมีความเข้าใจ และตื่นตัวในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรค         พิษสุนัขบ้า โดยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พร้อมเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ ผลการเผยแพร่ข่าวสาร และประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการฯ ทำให้คนไทยมีความสนใจ และตื่นตัวในการป้องกันโรค        พิษสุนัขบ้าเพิ่มมากขึ้น 

  1. การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า

โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขับเคลื่อนการบูรณาการด้านข้อมูล      โรคพิษสุนัขบ้า ทั้งการสำรวจประชากรสัตว์ และการเกิดโรคในสัตว์ ด้วยการพัฒนาโปรแกรม         ต่อยอดจากฐานข้อมูล Thai Rabies Net สู่ฐานข้อมูล Rabies One Data พร้อมทั้งจัดสร้างศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคพิษสุนัขบ้า เพื่อใช้ในการวางแผนการดำเนินงานในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

  1. การติดตาม และประเมินผล

โดยสำนักผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ด้วยการตรวจติดตามการดำเนินโครงการฯแบบบูรณาการ รายงานต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงาน   ที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ผลการตรวจติดตามแบบบูรณาการ ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่าเป็นรูปธรรมและมีความรวดเร็ว

  1. การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี

โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม          พร้อมเครือข่าย ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งได้ดำเนินโครงการวิจัยกว่า ๒๐ โครงการ อีกทั้งได้นำผลการวิจัย พัฒนา ไปถ่ายทอดและ            ใช้ประโยชน์ ตลอดจนการบูรณาการร่วมกันกับการออกหน่วยอาสาบริการทางสัตวแพทย์ เช่น       การทำหมัน ฉีดวัคซีน และให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข สัตวแพทย์ ผู้นำชุมชน ครู นักเรียน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมแล้วกว่า ๒,๖๐๐ คน การดำเนินโครงการฯ ส่งผลให้ได้ความรู้ และนวัตกรรม ทั้งทางการแพทย์ และการศึกษา อาทิเช่น การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารูปแบบการกิน การสร้างรูปแบบหลักสูตรการอบรมใหม่ๆ เป็นต้น  

โดยภาพรวมการดำเนินโครงการฯในระยะแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๓ เป็นเวลา ๔ ปี ส่งผลให้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า และจำนวนสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ลดลงเป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยจะดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถขจัดโรคให้หมดไปจากประเทศไทยได้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ องค์ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จึงโปรดให้ทุกฝ่ายช่วยกันดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรค       พิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ต่อในระยะที่ ๒ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๖๔ – ๒๕๖๘ เพื่อขจัดโรคพิษสุนัขบ้า       ให้หมดไปจากประเทศไทยให้ได้อย่างยั่งยืน การดำเนินโครงการในระยะที่ ๒ ยังคงหลักการทำงานร่วมกัน     เชิงบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ทั้ง ๘ ด้าน โดยมีแนวทางการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนใน ๓ เรื่อง คือ ๑) การสร้างพื้นที่ปลอดโรคในประเทศไทย ๒) การบริหารจัดการประชากรสัตว์เลี้ยงทุกกลุ่มอย่างเป็นระบบ และ ๓) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคมและภาคประชาชน ตลอดจนแนวทางการจัดการโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 

นับเป็นพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล และพระกรุณาธิคุณของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อย่างหาที่สุดมิได้ ต่อประชาชนคนไทย ตลอดจนสรรพชีวิตบนผืนแผ่นดิน ที่จะอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างคน และสัตว์ ได้อย่างปลอดภัย ด้วยความรัก และความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน

ข้อมูล ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image

image วิดีโอ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar