น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่แผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (EEC/SEC/SEZ) สร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนไทย

น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่แผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (EEC/SEC/SEZ) สร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนไทย

          นานาประเทศต่างวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศให้เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด เป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่ทั่วโลกเกรงขาม ซึ่งประเทศไทยของเราก็ได้มีการกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะ ๒๐ ปีขึ้นมาเช่นกัน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในครั้งนี้ ปรัชญาอันทรงคุณค่าที่จะช่วยให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
พระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
          “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป” พระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗
และเมื่อประเทศไทยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ไว้ว่าต้องการจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้เสมอภาค และเท่าเทียมนานาประเทศ ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จในศึกครั้งนี้ เป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการทำมาหากิน และนำไปสู่ความพอมี พอกิน พอใช้ ด้วยเหตุนี้การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจึงเข้ามามีบทบาทที่จะช่วยให้ไทยเติบโตไปข้างหน้าอย่างทัดเทียมและยั่งยืน
“การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก” พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
พระราชดำรัสนี้ เป็นอีกส่วนสำคัญที่นำไปสู่แผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาสิ่งที่แต่ละพื้นที่มีอยู่เดิม ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นอกเหนือจากการนำมาใช้เองก็พัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ เสริมศักยภาพด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางสังคมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษให้มีคุณภาพมากขึ้น สร้างฐานการลงทุนบริเวณชายแดน เปิดประตูสู่การค้าระหว่างพรมแดนกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่รายล้อมรอบไทย รวมถึงใช้โอกาสอันดีนี้เข้าไปแก้ปัญหาชายแดน สร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ แบ่งออกเป็น ๓ เขต ดังนี้
๑.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EASTERN ECONOMIC CORRIDOR (EEC)
เป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ โดยนำร่องที่ ๓ จังหวัดแห่งอุตสาหกรรมเมืองไทยอย่างจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เริ่มจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การขนส่ง และโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งทางบก (ถนนและราง) ทางน้ำ และทางอากาศ อีกทั้งยังส่งเสริม ๑๒ อุตสาหกรรมไทย (๕ อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ และเพิ่มอีก ๗ อุตสาหกรรมใหม่ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต) ให้มีประสิทธิภาพโดดเด่น ดึงดูดการลงทุนจากนานาประเทศทั่วโลก 
๒.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SPECIAL ECONOMIC ZONE (SEZ)
การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน พื้นที่เปราะบางที่จะถูกพลิกบทบาทเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดนที่พร้อมเปิดประตูทักทายประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นมิตร มอบสินค้าที่มีคุณภาพ การลงทุนที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์มากมาย ช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดนที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างสะดวก สร้างอาชีพและรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ชายแดนให้ดีขึ้น โดยจังหวัดที่ได้รับการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๐ จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี ซึ่งทั้ง ๑๐ จังหวัดนี้ ประกอบไปด้วย ๙๐ ตำบล ใน ๒๓ อำเภอ
๓.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SOUTHERN ECONOMIC CORRIDOR (SEC)
เปลี่ยนภาคใต้ตอนบนให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทางทะเล นำร่องด้วยจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและกิจกรรมทางการค้าที่มีอยู่เดิม ต่อยอดมาเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่มีศักยภาพ รวมถึงพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก อากาศ และทะเล พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน พัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ และการแปรรูปการเกษตร เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีขึ้นจากพื้นฐานต้นทุนเดิม 
จะเห็นได้ว่าการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ให้คนไทยทุกคนอยู่ดีมีสุข พอมี พอกิน และพอใช้ คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างรากฐานทางเศรษฐกิจของคนในประเทศให้เป็นปึกแผ่น เพื่อให้ไทยก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

อ้างอิง: มูลนิธิชัยพัฒนา
https://www.chaipat.or.th/publication/publish-document/sufficiency-economy.html

อ้างอิง: สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี
https://www.pmdu.go.th/investment-support-more-eec

อ้างอิง: เอกสารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน กองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=๕๑๙๓

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar