รวมไทยมีจดทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมฯ แล้ว 4 อย่าง มีอะไรบ้าง

รวมไทยมีจดทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมฯ แล้ว 4 อย่างอะไรบ้าง
" ประเพณีสงกรานต์" เป็นขนบธรรมเนียมอันสวยงามของไทย ได้รับพิจารณาให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สะท้อนว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเทศไทย ให้การยอมรับ โดยเห็นถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวัฒนธรรมไทย พร้อมเชื่อมั่นว่าทุกประเพณี วัฒนธรรมของไทยทรงคุณค่า สามารถต่อยอดความสำเร็จผ่านการสืบสาน พัฒนา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต  “สงกรานต์” ได้รับการยอมรับว่าเป็นเทศกาลที่มีคุณค่าในการอนุรักษ์และควรค่าแก่การเผยแพร่ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ "สงกรานต์ในประเทศไทย" หรือ "Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival" ได้รับการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งจะมีการประกาศผลในการประชุมขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก วันที่ 6 ธ.ค. 2566 นี้ ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก โดย “สงกรานต์” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโกลำดับที่สี่ ของไทย
การขึ้นทะเบียนครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของไทยและถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในระดับสากลต่อคุณค่าและความสำคัญของ “สงกรานต์” ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นการแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคและในประเทศไทยด้วย รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมบทบาทอันแข็งขันของชุมชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษาประเพณีและศิลปะดังกล่าวไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังต่อไป
อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. ๒๐๐๓ ได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัยสามัญ (General Conference) ของยูเนสโก เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ และประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๙ โดยอนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกถึงความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage - ICH) ของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการสร้างความเคารพ และความตระหนักถึงความสำคัญของ ICH ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นจนถึงสากล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษา โดย ICH สามารถอยู่ในรูปแบบการแสดงออกทางวาจาและภาษา การแสดงศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีทางศาสนา เทศกาลเฉลิมฉลอง และ/หรืองานฝีมือ
ปัจจุบัน ไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชี RL แล้ว ๔ รายการ ได้แก่

1. โขน (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี ๒๕๖๑) 
2. นวดไทย (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี ๒๕๖๒) 
3. โนรา (ขึ้นทะเบียนในปี ๒๕๖๔) 
4. สงกรานต์ (ขึ้นทะเบียนในปี ๒๕๖๖)
ย้อนรอย 3 มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย
ประเทศไทยเคยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage  - ICH) ในหมวดหมู่วัฒนธรรมที่จับต้องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) มาแล้ว 3 รายการ ได้แก่ 
          ปี 2561 ขึ้นทะเบียน ‘โขน’ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติรายการแรกของประเทศไทย ขึ้นทะเบียน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Khon, masked dance drama in Thailand” ทั้งนี้ การพิจารณาขึ้นบัญชีโขนไทยในครั้งนั้น มีหลักเกณฑ์ 5 ข้อ เช่น เรื่องที่นำเสนอขึ้นบัญชีจะต้องได้รับการส่งเสริม ให้ความสำคัญ กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก อีกทั้งต้องเป็นเรื่องที่เกิดจากชุมชน กลุ่ม หรือมีบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง 
โขนในประเทศไทยนิยมแสดง เรื่อง ‘รามเกียรติ์’ ซึ่งมีที่มาจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย ‘โขนไทย’ เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่แตกต่างจากประเทศอื่นในรายละเอียดของการแสดง โดยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้แสดงในงานมหรสพหลวงและพิธีต่าง ๆ สำหรับสร้างความบันเทิง และเป็นสื่อเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สอดแทรกคติธรรมต่าง ๆ สู่ผู้ชมผ่านตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของความดี ความชั่ว ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ฯลฯ 
          ปี 2562 ขึ้นทะเบียน ‘นวดไทย’ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 นวดไทย (Nuad Thai) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage) จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย 
นวดไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยที่มีการสืบสานมาแต่โบราณกาล มีบันทึกจารึกกล่าวถึงตั้งแต่ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) และในเชิงโครงสร้างก็มีการจัดตั้งกรมหมอนวด จวบจนสมัยปัจจุบันได้มีการแตกหน่อต่อยอดองค์ความรู้แห่งศาสตร์แขนงนี้อย่างหลากหลาย พัฒนาเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ตั้งแต่การนวดพื้นบ้านในชุมชน การนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงการนวดเพื่อการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลต่าง ๆ
          ปี 2564 ขึ้นทะเบียน ‘โนรา’ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 “โนรา” (มโนรา มโนห์รา มโนราห์ – มีการเขียนกันหลายแบบ) เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน เป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ฉพาะถิ่น โนรามีองค์ประกอบสำคัญคือ เครื่องแต่งกายอันสวยงาม และเครื่องดนตรี โดยผู้รำโนราจะสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะ ขณะที่ผู้เล่นโนรานั้นจะต้องมีความสามารถในศาสตร์และศิลป์แห่งโนรา ทั้งการร่ายรำ ร้อง เล่น การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง แววตา และมีปฏิภาณ
ไหวพริบในการแสดง การด้นสดที่ส่วนใหญ่จะเป็นมุขตลกเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม ซึ่งจำเป็นต้องฝึกฝนกันตั้งแต่ยังเล็ก อีกทั้ง ท่ารำตัวอ่อน หรือโนราตัวอ่อน ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อันน่าทึ่งของโนรา 
นอกจากโนราจะมีในภาคของศิลปะการแสดงเพื่อความบันเทิงรื่นเริงใจแล้ว ก็ยังมีในภาคของพิธีกรรมคือ โนราโรงครู หรือโนราลงครู ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการโนรา อีกทั้ง ยังมีมิติทับซ้อนทางด้านวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ และความศรัทธา ของชาวใต้ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีที่ผูกพันกับโนราอย่างแนบแน่น
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยทั้ง 3 รายการข้างต้น ได้ขึ้นทะเบียนอยู่ในหมวดหมู่วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งชุมชน กลุ่มชน ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน 
--------------------------------------------------------------------------------
 


image รูปภาพ
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar