โอกาสทางธุรกิจ SME เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง มอง Waste ให้เป็น Wealth

          ประเทศไทยมีขยะจากครัวเรือนกว่า 28 ล้านตัน/ปี หรือเฉลี่ย 1 กก./คน/วัน แต่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้แค่เพียงปีละ 9.6 ล้านตัน ไม่เพียงเท่านั้น วิถีชีวิตแบบใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ยิ่งผลักดันให้มีขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น ปริมาณขยะจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เกิดเป็นวิกฤตขยะล้นเมือง! ส่วนหนึ่งเพราะขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่วิกฤตนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จนคาดกันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะมีขยะหลุดเข้าสู่สิ่งแวดล้อมถึง 700 ล้านตัน
          จะดีกว่าหรือไม่? หากขยะเหล่านี้ไม่ถูกตัดสินให้กลายเป็นขยะเร็วเกินไป ทั้งที่มันเคยเป็นและอาจยังเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาลอยู่ ด้วยการใช้ “หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่มุ่งใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและหมุนเวียนทรัพยากรใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแค่ลดปัญหาขยะล้น หรือทรัพยากรขาดแคลน แต่ยังสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจได้ แค่เปลี่ยนความคิดและลงมือทำ
          ภาพรวมของธุรกิจ Upcycling ในตอนนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมากปัจจัยหนึ่งมาจากการที่ภาครัฐเริ่มให้การสนับสนุนจนกลายเป็นแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งหมายถึง Bio-Circular-Green ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้มีคนเข้ามาในบริบทนี้ มีเด็กรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น องค์กรใหญ่เริ่มหันมาสนใจและดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง สร้างให้เกิด Upcycling Initiative เพิ่ม 
ธุรกิจรีไซเคิล ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นโอกาสสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากทำได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีที่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการแปรรูปขยะเป็นพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และจำนวนประชากรในประเทศ ตลอดจนวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความต้องการอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น และเป็นสาเหตุในการเกิดขยะมูลฝอยจำนวนมาก
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลในไทย ประกอบไปด้วย 4 ธุรกิจหลัก คือ

  1.    ธุรกิจรับซื้อของเก่าหรือขยะรีไซเคิล ทำโดยรับซื้อขยะพลาสติกมาจากซาเล้งหรือรถรับซื้อขยะตามบ้านเรือน คนเก็บขยะ หรือรับซื้อจากผู้บริโภคโดยตรง
  2.     ธุรกิจรับย่อยขยะพลาสติก จะทำการรับซื้อขยะพลาสติกมาจากร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลอีกทอดหนึ่ง แล้วนำขยะพลาสติกที่แยกประเภทแล้วมาย่อยหรือบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ด้วยเครื่องบดพลาสติก แล้วล้างทำความสะอาด
  3.     ธุรกิจหลอม รีด และตัดเม็ดพลาสติก โดยจะนำเศษพลาสติกบดที่คัดแยกประเภทและทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว มาหลอม รีด และตัดเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เพื่อจำหน่ายเม็ดพลาสติกรีไซเคิลให้แก่โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อไป
  4.     ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล จะรับซื้อเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการขึ้นรูปพลาสติกรีไซเคิล

          การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศของภาครัฐด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระแสการแก้ไขปัญหาขยะของโลกเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจรีไซเคิลขยายตัว โดยกรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์อัตราการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ สูงถึง 51% ในปี 2567 จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลครับ
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar