พนันออนไลน์กับดักร้ายของเยาวชน

พนันออนไลน์กับดักร้ายของเยาวชน
                   ท่ามกลางกระแสข่าวการจับกุมเว็บพนันออนไลน์ เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยเล่นการพนันและติดการพนันจำนวนมาก จนกลายเป็นปัญหาทั้งส่วนบุคคลและสังคม ล้มละลายหมดตัว ครอบครัวแตกแยก ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน หมดความน่าเชื่อถือ ดั่งคำโบราณว่า…โจรปล้น 10 ครั้ง ยังไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว ไฟไหม้ 10 ครั้ง ยังไม่เท่าผีพนันเข้าสิง… 

                   เพื่อให้สังคมเข้าใจปัญหาและผลกระทบ จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาวิชาการ “เปิดพฤติกรรมเยาวชนไทย รู้เท่าทันภัยพนัน?” โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หาแนวทางให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสามารถรับมือภัยจากการเล่นพนันออนไลน์ ในฐานะปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและสังคม โดยมีตัวแทนเด็กและเยาวชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชน มาร่วมกันให้ข้อคิดเห็น

                   รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน สสส. ได้กล่าวให้ข้อคิดในช่วงเปิดงานว่า เป็นโอกาสดีที่จะได้ดึงเอาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการพนันออกมาให้ปรากฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่มาพร้อมกับสื่อสมัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้สื่อออนไลน์ในปัจจุบัน เราไม่ใช่เป็นคนใช้สื่อ แต่ในทางกลับกัน เราตกเป็นเหยื่อของสื่อ กลายเป็นสื่อที่ใช้เราและใช้ได้ง่ายมาก เชื่อว่าหากได้ฟังการเสวนาจากงานค้นคว้าวิจัยของอาจารย์หลาย ๆ ท่าน จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาดูแลการพัฒนาสื่อเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

                   ด้านรศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันฯ เล่าในวงเสวนาว่า ช่วงต้นปีได้ทำการสำรวจการพนันออนไลน์ในกลุ่มคนอายุ 15-25 ปี พบว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีนักการพนันหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะคนมีเวลาอยู่บ้านและใช้เวลาเล่นอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้เห็นการโฆษณาของพนันออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากยังพบว่า เห็นแล้วอยากลอง 44% ลองกดเข้าไปดู 26% ทดลองเล่น 4% และแชร์ข้อความโฆษณาไปยังสาธารณะ 1% ทำให้การโฆษณาพนันออนไลน์ขยายวงกว้างออกไปอีก เพราะเข้าถึงง่าย เล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา
                   ผลกระทบจากการลองเล่นพนันของเด็กและเยาวชน มีดังนี้
1.    ขาดเงินใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะนำเงินค่าขนมเงินที่พ่อแม่ให้มาไปเล่นพนัน
2.    เกิดความเครียด เนื่องจากเล่นพนันเสีย จนส่งผลต่อสุขภาพจิตจนกลายเป็นภาวะซึมเศร้า
3.    เป็นหนี้ หยิบยืมเงินเพื่อน นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น ทะเลาะกับเพื่อน ครอบครัวเกิดความแตกแยก

                   ขณะที่ รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ อาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ในฐานะภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงจากการพนัน สสส. และหัวหน้าทีมวิจัย เรื่อง การรู้เท่าทันสื่อชวนพนันออนไลน์ของนักศึกษามหาวิทยาลัย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้เล่าให้ฟังว่า งานวิจัยครั้งนี้ ได้การสอบถามนักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชนอีก 400 คน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ถึง เดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุการเล่นพนันออนไลน์ มาจากการพบเห็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน คนในชุมชน บวกกับไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ เด็กหลายคนที่ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่คิดว่าเป็นการเล่นพนัน แต่เป็นเพียงการเล่นเกมออนไลน์ที่ได้เงินรางวัล ได้ความสนุก ตื่นเต้น และท้าทาย

                   อีกทั้งซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังพบเห็นคนดังหรือคนมีชื่อเสียงในสังคมในด้านต่าง ๆ ออกมากล่าวเชิญชวน ตลอดสมาชิกในครอบครัว เพื่อน และ อยู่ในชุมชนยังเล่นพนันออนไลน์ ไม่คิดว่าต้องเกรงกลัวกฎหมายหรือผลเสียร้ายแรงใด ๆ จะตามมา จนสุดท้ายมองว่าเป็นเรื่องปกติ

                   อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวว่า พนัน = ยาเสพติด คำที่ฟังดูจะรุนแรง แต่บ่งบอกได้ชัดกับสถานการณ์ปัญหาการพนันในปัจจุบัน ที่ยังคงตกอยู่ในสภาวะการณ์น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มีชีวิตรายล้อมด้วยสื่อออนไลน์ ที่มันนำความยากจนตลอดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพมาสู่ชีวิตได้เช่นกัน

                   ดังนั้น หากคุณไม่แน่ใจว่ากำลังประสบปัญหาติดการพนันหรือไม่ ให้รีบเช็กสัญญาณเตือนเหล่านี้
1.    เล่นการพนันนานกว่าที่คุณตั้งใจไว้
2.    ลงพนันแบบทุ่มสุดตัว เล่นได้ก็อยากได้เพิ่ม เล่นเสียก็พยายามจะเอาคืน
3.    เริ่มโกหกครอบครัวหรือคนอื่น ๆ เกี่ยวกับจำนวนเงินที่คุณเล่นพนัน
4.    ขาดเรียน/ขาดงานหรือไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับครอบครัวหรือคนสนิทเนื่องจากการพนัน
5.    ไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต หมกมุ่นอยู่กับการคิดถึงเรื่องพนัน

                   สสส. และภาคีเครือข่าย ยังคงร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานข้อเสนอเชิงนโยบาย เผยแพร่องค์ความรู้ให้เยาวชนรู้ทันภัยพนันทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดกระบวนการที่จะทำให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกัน และมีสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงการพนันได้โดยยาก แสวงหาแนวทางการป้องนักพนันหน้าใหม่ ลดปัญหาและผลกระทบ สร้างสื่อสุขภาวะที่เหมาะสม สู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar