ทำความเข้าใจเรื่อง VAT 7% อย่างถูกต้อง ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ประเทศพัฒนาแล้วเก็บกี่ %

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือ VAT 7% เป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะคุ้นหูกับการเรียกอัตราภาษีนี้มาหลายสิบปี ซึ่ง VAT 7% มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดทุกๆ ปี และกลายเป็นประเด็นทางการเมืองบ่อยครั้ง แต่จะมีใครรู้บ้างว่าที่มาที่ไปของ VAT7% นั้นคืออะไร แล้วถ้าหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราภาษีนี้ถูกจัดเก็บที่เท่าไหร่ และประโยชน์ของการจ่าย VAT7% ต่อการพัฒนาประเทศคืออะไร สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์จะเล่าให้เข้าใจอย่างง่ายๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน

#รู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่ม_หรือ_VAT 7%

ภาษีมูลค่าเพิ่ม Value Added Tax (VAT) คือภาษีอากรประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในทุกการบริโภคที่รัฐบาลเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ ถือเป็นภาษีทางอ้อมโดยที่ผู้ประกอบการนั้นจะเรียกเก็บจากผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าและบริการที่บวกลงไปในราคาของผลิตภัณฑ์ และจะนำภาษีนั้นส่งให้กับกรมสรรพากรเพื่อเข้าสู่คลังของประเทศเพื่อการใช้จ่ายและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่าภาษีนี้จะถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนไว้ใน“ใบกำกับภาษี” ที่เราได้รับมาตอนชำระเงินเสร็จแล้ว

สำหรับสูตรการคำนวณ VAT คือ “ราคาสินค้า/บริการ x 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ยกตัวอย่างเช่น บริษัท NNT ขายโคมไฟราคา 1,070 โดยแบ่งเป็นต้นทุน 1,000 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 70 บาท โดยบริษัท NNT ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสรรพากรในทุกๆ เดือน

อันที่จริงแล้วสำหรับประเทศไทยอัตรา VAT ที่แท้จริงอยู่ที่ 10% มาตั้งแต่ปี 2535 แต่ว่าเมื่อปี 2540 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ซึ่งจะพิจารณาต่อในทุกๆ 2 ปี เหลือที่ 7% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงที่ประเทศเจอวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังจากนั้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราจึงเห็น 7% มาตลอดจนถึงปัจจุบัน แทนที่จะเป็น 10% อย่างที่ควรจะเป็น

ปัญหาของประเทศไทยที่ต้องเผชิญคือ การจัดเก็บอัตราภาษีต่างๆ ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น กระทบต่องบประมาณในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้มักเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่มองข้าม และมักจะไม่อยากเสียภาษีในอัตราที่สมเหตุสมผล เพราะมองว่าภาษีคือ ภาระ ไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ของพลเมือง แต่มีความต้องการที่จะได้สวัสดิการที่ดี โครงสร้างพื้นฐานที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

ภาษีมูลค่าเพิ่มถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไรกับประชาชน

ผลจากการจ่ายภาษีของประชาชนไม่เพียงแค่ทำให้ประเทศชาติมีงบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ผลประโยชน์อีกนานัปการที่ประชาชนจะได้กลับไปในรูปแบบของสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งนี่คือผลดีที่ประชาชนจะได้จากการชำระภาษี เพราะสุดท้ายเงินภาษีที่ชำระมาคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองในด้านต่างๆ โดยภาครัฐจะเป็นผู้จัดสรรตามความเหมาะสมนั้นเอง โดยจะถูกจัดสรรไปเป็นงบประมาณตามลักษณะงาน ดังนี้ (อิงตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี)

1. งบการศึกษา

2. งบสวัสดิการผู้สูงอายุ

3. งบด้านความมั่นคง

4. งบการขนส่ง

5. งบสาธารณสุขอื่น (ซึ่งรวมถึงบัตรทอง)

6. งบโรงพยาบาล

7. งบตำรวจ

8. งบในลักษณะงานอื่นๆ

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ซึ่งกระทบต่อชีวิตประชาชน เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ฐานะการคลังของทุกๆ ประเทศทั่วโลก ความเสี่ยงจากการที่ต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดเก็บรายได้เข้าสู่รัฐบาลลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 6.8% โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 2,391,570 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากรายได้ภาษีที่ลดลง ในขณะที่รายได้ของหน่วยงานอื่นและเงินนำส่งของรัฐวิสาหกิจยังคงขยายตัวจากปีก่อน

แม้ต่อให้รายได้รัฐบาลลดลง แต่รัฐบาลก็ไม่อาจจะลดประสิทธิภาพการดูแลประชาชนลงได้ ในสภาวะเช่นนี้ ประชาชนมีความลำบากในการใช้ชีวิต ดังนั้น จึงได้รับการยืนยันจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ว่า จะไม่มีการปรับอัตราภาษี VAT ภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ อย่างแน่นอน

ส่วน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเก็บ Vat 7% จะครบกำหนดสิ้นเดือนก.ย.นี้ ก็จะคงอัตราเดิมออกไปอีก 1 ปี ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ยืนยันว่า ในช่วงนี้จะไม่มีการเพิ่มอัตราภาษี Vat จะต้องให้การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบแล้วเสร็จก่อน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งให้ระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าอัตราภาษีจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ

ประเทศพัฒนาแล้วเก็บ VAT ที่กี่เปอร์เซ็นต์

ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ามีอัตราการจัดเก็บภาษี VAT ที่แตกต่างกัน แต่ถึงอย่างไรการจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนี้ย่อมทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและบริการสาธารณะที่ดีมาก ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกมีการเก็บภาษี VAT ในอัตราต่างๆ ดังนี้

ญี่ปุ่น                VAT 8%

เกาหลีใต้            VAT 10%

จีน                    VAT 17%

ออสเตรเลีย        VAT 10%

นิวซีแลนด์        VAT 12.5%

นอร์เวย์            VAT 25%

สหราชอาณาจักร VAT 20%

เยอรมัน            VAT 19%

ออสเตรีย            VAT 20%

เดนมาร์ก            VAT 25%

ฟินแลนด์            VAT 23%

ฝรั่งเศส            VAT 19%

อิตาลี                VAT 20%

แคนาดา            VAT 7 – 25%

เฉลี่ยทั้งโลกจัดเก็บที่ 15.5%

ส่วนสหรัฐอเมริกาการเก็บภาษีการค้าไม่ได้เรียกว่า VAT แต่เป็นภาษีการขายเรียกว่า Sales Tax ซึ่งแต่ละรัฐจะเก็บในอัตราที่ไม่เท่ากัน และเป็นการเรียกเก็บค่าบริการโดยตรงกับผู้ซื้อ ยังไม่รวม ภาษีรัฐ หรือ Stage Tax ที่เพิ่มเติมมาต่างหาก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงมาก ซึ่งนั่นทำให้รัฐบาลมีงบประมาณมากเพียงพอจะไปจัดสรรการบริหารราชการแผ่นดินได้มีประสิทธิภาพอย่างที่ประชาชนต้องการ นอกจากจะเก็บ VAT ได้สูงแล้ว ภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ก็ยังจัดเก็บในอัตราที่สูงและครอบคลุมประชาชนเกือบทั้งหมด โดยจัดเก็บกันที่ 40% ขึ้นไป และครอบคลุมประชากรมากกว่า 80%

และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันแต่ละประเทศมีการเก็บภาษี VAT (ตามกราฟฟิกด้านบน)

ส่วนประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยถือว่ามีการเก็บ VAT น้อยที่สุดเทียบเท่ากับสิงคโปร์

ข้อมูลของกรมสรรพากรระบุว่า ในปี 2562 ประชากรไทย 68.86 ล้านคน มีคนยื่นภาษี 11 ล้านคน หรือ 16.18% และต้องจ่ายภาษีจริงๆ เพียง 5 ล้านคน จากประชากรวัยทำงานที่ 30 ล้านคน ทำให้ไทยเก็บภาษีเงินได้จากคนไทยได้เพียงแค่ 0.3 ล้านล้านบาท ซึ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ถูกจัดเก็บได้เป็นอันดับที่ 3 ของภาษีทั้งหมด รองจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนิติบุคคล

ดังนั้นการที่ฝั่งการเมืองพยายามนำเรื่องภาษีไปเป็นประเด็นหาเสียง โดยอ้างว่าจะลดภาษี VAT ลงนั้นอาจจะเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ได้คะแนนเสียงมา แต่หากมีการประกาศลด VAT จริงๆ ก็ต้องลองพิจารณาดูว่า ในเมื่อภาษีอื่นๆ ก็จัดเก็บได้น้อยอยู่แล้ว และจะลด VAT อีก สิ่งที่เกิดขึ้นกับสวัสดิการที่ประชาชนจะได้รับนั้นจะเป็นอย่างไร และจะมีเงินมาบริหารประเทศเพียงพอหรือไม่ ประชาชนคือผู้ต้องตัดสินใจและเท่าทันต่อคำพูดของนักการเมืองให้ดี เพราะสุดท้ายผลกระทบตกอยู่ที่ประชาชนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210402151610620


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar