"ขยะทะเล" ขยะที่ไม่ได้มาจากทะเล

"ขยะทะเล" ขยะที่ไม่ได้มาจากทะเล

ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมีต้นทางมาจากบนบก หากเปรียบเส้นทางขยะบกสู่ทะเล คงเทียบได้กับการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่ต้นทางมาจากครัวเรือนและคนไทยทุกคน ระหว่างทางคือการบริหารจัดการขยะทั้งกระบวนการจัดเก็บ และการทำลายโดยองค์กรท้องถิ่น ส่วนปลายทางคือแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเป็นเสมือนสายพานลำเลียงขยะที่เล็ดลอดออกมาจากระหว่างทางลงสู่ทะเลและมหาสมุทร

ข้อมูลปี 2561 ประเทศไทยสร้างขยะมูลฝอย 27.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 1.64% ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 0.5 ล้านตันเท่านั้น นั่นหมายความว่าขยะพลาสติกจำนวนหนึ่งไหลลงสู่ทะเลทุกวัน กลายเป็นมลพิษต่อระบบนิเวศและเป็นต้นเหตุให้สัตว์ทะเลเสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งพลาสติกเหล่านี้ยังแปรสภาพกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ย้อนกลับสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ จนเกิดกระแสแบนขยะพลาสติกไปทั่วโลก

จากการศึกษาวิจัยเชิงพื้นที่ของ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าขยะทะเลในอ่าวไทยและฝั่งอันดามันนั้นมาจากต่างประเทศ ทั้งที่ความจริงเป็นขยะที่มาจากบนบก โดยที่คนไทยด้วยกันเองและนักท่องเที่ยวเป็นคนทิ้ง ขณะที่แม่น้ำสายหลักเป็นเสมือนเส้นทางลำเลียงขยะบกลงสู่ทะเล อาทิ แม่น้ำแม่กลอง  แม่น้ำท่าจีน  แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา  ฯลฯ

โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นต้นธารมาจากแม่น้ำสายย่อย ๆ ทั้ง ปิง วัง ยม น่าน เป็นเสมือนเส้นทางไหลรวมของขยะทางตรงลงสู่อ่าวไทย โดยในช่วงลมมรสุมขยะที่ลงทะเลไปแล้วจะถูกซัดย้อนกลับมาเกยบริเวณชายหาดของจังหวัดอ่าวไทยตอนใน หรือทางภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นไปตามกระแสของคลื่นลมมรสุม

ข้อมูลอีกด้านเกิดจากการทำงานในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันมาอย่างต่อเนื่อง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ย้ำว่า ขยะทะเลในอ่าวไทยไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย มีแต่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วยซ้ำ ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่เก็บขยะริมหาดอ่าวพังงา ในปี 2561 เก็บขยะทะเลได้ 82.3 ตัน ปี 2562 เก็บได้ 95.28 ตัน

การันตีได้ว่า ขยะที่เก็บได้ทั้งหมดล้วนมีฉลากภาษาไทย อาจมีบ้างเป็นภาษาต่างประเทศซึ่งถูกคลื่นลมพัดมาจาก มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากมรสุมทะเลจีนใต้บริเวณแหลมญวน แต่ปริมาณขยะทะเลของไทยโดยรวมที่ทำให้ติดอันดับ 6 ของโลกนั้นมาจากน้ำมือคนไทยด้วยกันเอง ไม่ใช่ขยะโลก

เมื่อมองย้อนกลับมาทำความเข้าใจกับกระแสทิศทางลมในทะเล ยิ่งทำให้เห็นภาพว่า ขยะจากจังหวัดตอนในของประเทศไทย หากหลุดรอดลงแม่น้ำและไหลลงสู่อ่าวไทยแล้ว จะไปปรากฎอยู่ตามจังหวัดชายทะเลได้อย่างไร

ในพื้นที่อ่าวไทย ช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กระแสน้ำจะพัดขึ้นเป็นวงตามเข็มนาฬิกา กระแสน้ำและขยะบริเวณปากแม่น้ำจึงอาจถูกพัดพาไปได้ไกลถึงชายหาดบริเวณทางฝั่งภาคตะวันออก ส่วนช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กระแสน้ำในอ่าวไทยจะเคลื่อนเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา กระแสน้ำและขยะจากบริเวณปากแม่น้ำจึงอาจถูกพัดลงไปได้ไกลถึงชายหาดทางฝั่งภาคใต้

ในขณะที่ฝั่งทะเลอันดามัน กระแสน้ำในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะทำให้น้ำในทะเลมีทิศทางการไหลจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง หากยึด จ.ภูเก็ต เป็นศูนย์กลาง มรสุมช่วงนี้กระแสลมจะมีทิศทางจากเมียนมาลงไปยังมาเลเซีย ขณะที่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กระแสลมจะมีทิศทางพัดจากด้านล่างขึ้นด้านบน

ฉะนั้น โอกาสที่ขยะพลาสติกจากประเทศหนึ่งจะไปเกยหาดของอีกประเทศหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับกระแสลมในช่วงนั้น ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าขยะพลาสติกจากทางทิศใต้หรือด้านล่างจะมาจากมาเลเซียหรือประเทศแถบนั้นเท่านั้น หรือทางด้านทิศเหนือของฝั่งอันดามันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมาจากเมียนมาเท่านั้น แต่อาจมาจากบังคลาเทศ อินเดีย หรือประเทศอื่น ๆ ด้วยก็ได้

          ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า หากจะแยกแยะในรายละเอียดของขยะพลาสติกแต่ละชิ้น ต้องดูจากแหล่งผลิตในฉลากว่ามาจากประเทศไหน ซึ่งมาได้สองทาง นั่นก็คือมากับกระแสน้ำและนักท่องเที่ยวเป็นคนนำมาทิ้งและลงสู่ทะเล

การดักขยะในแม่น้ำก่อนที่จะออกสู่ปากแม่น้ำ จึงเป็นกิจกรรมที่หลายหน่วยงานให้ความสำคัญเพื่อลดปัญหาขยะทะเล และสร้างความตระหนักไม่ให้ประชาชนทิ้งขยะลงแม่น้ำ กิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา: เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย” ซึ่งดำเนินมาเป็นปีที่ 2 เป็นหนึ่งในกิจกรรมนั้น ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

จากการพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ถึง จ.สมุทรปราการ รวมระยะทาง 349.5 กิโลเมตร เมื่อปีที่แล้วสามารถเก็บขยะได้กว่า 2,160 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะทั่วไป 1,505 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 387 กิโลกรัม ขยะอันตราย 47 กิโลกรัม และขยะอินทรีย์ 221 กิโลกรัม

กิจกรรมในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 ตุลาคม 2562 โดยมีอาสาสมัครพายเรือตลอดระยะทาง ประมาณ 10 ลำ มีอาสาสมัครพายเรือโดยชุมชนในแต่ละจังหวัด ๆ ละ 40 ลำ สำหรับขยะที่เก็บได้ในแต่ละพื้นที่จะนำขึ้นบกเพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมเรียนรู้วิธีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยจะมีจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ที่ผ่านการอบรมเรื่องการคัดแยกขยะกว่า 400 คน มาร่วมให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย

ฉะนั้น การสร้างความตระหนักรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง การรณรงค์การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีจะต้องได้รับการขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะการเก็บเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด แต่การหยุดทิ้งและหยุดใช้ถุงพลาสติกอาจจะเป็นทางออกการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ที่มา :กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar