โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลฯ จังหวัดนครนายก

โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลฯ จังหวัดนครนายก

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่แม่น้ำนครนายกซึ่งกรมชลประทานได้พิจารณาวางโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่านที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้งอำเภอเมือง จังหวัดนครนายกเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดนครนายก เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค  รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13กุมภาพันธ์ 2539  และวันที่ 18 พฤษภาคม2547 เห็นชอบโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ปี2540-2546 ในวงเงิน 10,193ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติแผนปฏิบัติงานป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ  ปี 2540-2551 ในวงเงิน 990 ล้านบาทซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนขุนด่านปราการชล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน2544

                          งานก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่นเขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด (RCC DAM) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 93 เมตร ยาว 2,594 เมตร  ระดับสันเขื่อน +112 เมตรที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ผิวอ่าง 3,087 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 224 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดและเริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม2547

  งานก่อสร้างระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำ 

 พื้นที่รับประโยชน์โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล รวมทั้งสิ้น185,000 ไร่ แยกเป็น

-     โครงการท่าด่านเดิมและส่วนขยายจำนวน 20,000 ไร่  ดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำ รวมยาว 41.44 กม. และคลองระบายน้ำ รวมยาว22.41 กม. และอาคารในคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ จำนวน 260แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2549

- ใน2556 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนขุนด่านปราการชลได้ดำเนินการขยายระบบส่งน้ำฝั่งขวาเขื่อนขุนด่านปราการชล โดยอยู่ระหว่าง ดำเนินการ

ด้านการเกษตร (เกษตรกรได้รับประโยชน์ 96 หมู่บ้าน 9,104 ครัวเรือน)

                                    - พื้นที่การเกษตรโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าด่านจำนวน 20,000 ไร่ โดยมีแผนการปลูกพืชได้แก่  ข้าว  19,719 ไร่ไม้ผล 5,691 ไร่ เช่น ส้มโอ , มะปราง , มังคุด , มะม่วง , มะยงชิด ฯลฯ  และพืชไร่พืชผัก  196 ไร่ เช่น ข้าวโพดหวาน , บวบ , พริก , คะน้าฯลฯ (มีการปลูกซ้ำในพื้นที่)

                                    - พื้นที่การเกษตรโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก165,000 ไร่ ในฤดูฝน และ พื้นที่ 42,000 ไร่ ในฤดูแล้ง

         การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว

                                    จากผลการสำรวจดินพบว่า พื้นที่โครงการ (20,000 ไร่) มีปริมาณน้ำช่วยในการชำระล้างดินเปรี้ยวทำให้ดินมีความชุ่มชื้นสูงขึ้นสารประกอบไพไรท์ในดินไม่สัมผัสอากาศและไม่เกิดกรดกำมะถัน ทำให้สามารถปรับปรุงบำรุงดินเพื่อลดความเป็นกรดได้สะดวกขึ้นและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์  โดยใช้ปุ๋ยพืชสดให้ทำการเพาะปลูกได้

                                     การอุปโภค-บริโภค        

                                    เขื่อนขุนด่านปราการชลสามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในเขตเมืองนครนายกและพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการฯจำนวนประมาณ 16 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

                                    การป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัย รักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็ม

                                    ในช่วงฤดูแล้ง (เดือนมีนาคม-เมษายน) มีแผนการระบายน้ำประมาณ 20ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือการเกษตรในพื้นที่ชลประทานสองฝั่งแม่น้ำนครนายกและประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็มน้ำเสียที่รุกเข้ามาทางแม่น้ำปราจีนบุรีให้ไหลกลับไปแม่น้ำบางปะกงและลงทะเลที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 

                                    แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและประมง

                             เขื่อนขุนด่านปราการชลเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ ปลาน้ำจืดและกุ้งก้ามกราม  ซึ่งจะให้ผลผลิตประมาณ 58 ตันต่อปี

          การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำใต้ดิน

                             ปริมาณน้ำใต้ดินในพื้นที่โครงการฯ เขื่อนขุนด่านปราการชล (20,000ไร่) เพิ่มขึ้น โดยบ่อน้ำที่ใช้ทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภคในครัวเรือนปัจจุบันมีน้ำตลอดปีจากเดิมที่เคยแห้งในช่วงฤดูแล้ง

                                    การพัฒนาการท่องเที่ยว

                                    การระบายน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชล ลงลำน้ำเดิมในปริมาณน้ำประมาณปีละ1 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลประโยชน์ทางอ้อมต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวสามารถล่องแก่งได้ตลอดปี (เดิมล่องแก่งได้ 4-5 เดือน)รวมทั้งภูมิทัศน์บริเวณเขื่อนขุนด่านปราการชลจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานพักผ่อนหย่อนใจ 

                                    ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ของโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลมีผลในการปฏิบัติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ร่วมกันจัดทำ “แผนพัฒนาและส่งเสริมอาชีพในพื้นที่รับน้ำโครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   จังหวัดนครนายก” ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบและเครื่องมือในการดำเนินงานพัฒนา

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
                                   เขื่อนขุนด่านปราการชลเมื่อการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จส่งผลประโยชน์ต่อการส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่185,000 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 96หมู่บ้าน 9,104 ครัวเรือน 34,368 คน ประชาชนที่อาศัยในเขตเมืองนครนายกและเขตส่งน้ำของโครงการฯมีน้ำอุปโภค-บริโภค ประมาณ 16 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำนครนายกโดยลดความเสียหายได้ร้อยละ35 หรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาทต่อปีสามารถแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ไร่รักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำนครนายกและผลักดันน้ำเค็มในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและแหล่งประมงขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะให้ผลผลิตสูงสุดถึง 58,000 กิโลกรัมต่อปีรวมทั้ง ตัวเขื่อนขุนด่านปราการชลและพื้นที่รับประโยชน์จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครนายก

ที่มา : 

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar