โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปากคลอง หมู่ที่ ๓ ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปากคลอง หมู่ที่ ๓ ตำบลเกาะกลาง

อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

 

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเล ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ประมาณ ๔,๒๐๐ ไร่ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๗ ตามที่จังหวัดกระบี่ น้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศของป่าทุ่งทะเลให้ยั่งยืน (ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๙/พิเศษ ๑๓๑ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๗) 

ผลการดำเนินงาน

           เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล จังหวัดกระบี่ ร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๕(นครศรีธรรมราช) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้ 

๑. การฝึกอบรมการจักสานเตยปาหนัน และออกแบบผลิตภัณฑ์จากเตยปาหนัน
ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน ๕๐ คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน และราษฎรที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งทำให้ราษฎรสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปต่อยอดพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากเตยปาหนันให้มีความหลากหลายมากขึ้น

           ๒. การปลูกเตยปาหนันในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล จำนวน ๘๐ ไร่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่โดยรอบโครงการฯ มีแปลงปลูกเตยปาหนันเพิ่มขึ้น และมีวัสดุเพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มจักสานเตยปาหนัน

           ๓. การฝึกอบรมการเลี้ยงผึ้งโพรง และการทำผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งโพรง ณ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน ๕๐ คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน และราษฎรที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งทำให้ราษฎรสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปพัฒนาการเลี้ยงผึ้งโพรงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสามารถนำน้ำผึ้งโพรงไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน 

ประโยชน์ที่ได้รับ

             ๑. สามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบบนิเวศของผืนป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์

             ๒. สามารถลดปัญหาความขัดแย้งของราษฎรทั้งในและนอกพื้นที่ ในการเข้ามาบุกรุกยึดถือครอบครองป่า เก็บหาของป่าภายในโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล

              ๓. ช่วยยกระดับรายได้ของราษฎรให้พออยู่พอกิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเน้นให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วม

           ๔. ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ ได้รับประสบการณ์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

ที่มา : 

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar