20 มีนาคม วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นับเป็นจิตอาสาที่เสียสละแรงกายแรงใจ โดยมีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ มีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทาง อสม. ก็เป็นกำลังสำคัญ คอยให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่ชาวบ้าน

อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มีจุดเริ่มต้นจากการที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและพัฒนาสาธารณสุข จึงได้นำเอาการสาธารณสุขมูลฐานมาเป็นกลวิธีหลักในการพัฒนา ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (2520-2524)

โดยกิจกรรมสำคัญคือ สนับสนุนให้มีการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักในความจำเป็น ที่จะต้องแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชนเอง ซึ่งมีฟันเฟืองสำคัญในการดำเนินงาน คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นจิตอาสาที่เสียสละแรงกายแรงใจ เวลา และทุนทรัพย์ในการดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าอาสาสมัครสาธารณสุขคือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในชุมชน และสามารถช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะให้การยกย่อง เชิดชูเกียรติ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยได้ผลักดันให้มีวันสำคัญของอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยในปี 2537 กระทรวงสาธารณสุขได้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ" โดยเลือกวันที่ 20 มีนาคม เป็น "วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ" เป็นการเริ่มต้นจัดงานเฉลิมฉลองในนามวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ 20 มีนาคม 2537 เป็นต้นมา

อสม.เป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ออกไปสำรวจข้อมูลด้านสาธารณสุข เก็บข้อมูล เก็บบันทึกด้านสุขภาพของครอบครัว และรณรงค์เรื่องการป้องกันโรคเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ปกป้องคนในชุมชนจากโรคที่คุ้นเคยตลอดฤดูกาลระบาด ไปเยี่ยมตามบ้านเพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมถึงรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ต้องยอมรับว่าบทบาทของ อสม.มีความสำคัญในการดำเนินงานด้านสุขภาพ แต่เป็นภาพสำหรับการยอมรับของคนในระดับชุมชน การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการพลิกฟื้นความเชื่อถือ เชื่อมั่นในศักยภาพของ อสม.ให้เกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศและรวมถึงคนทั่วโลก

ประเทศไทยอยู่ในห้วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ 4 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นการระบาดในระลอกแรก จนถึงวันนี้ซึ่งเป็นการระบาดระลอกใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า อสม.คือพลังสำคัญและเป็นด่านหน้า ที่ต้องต่อสู้กับการระบาดในชุมชน

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ฉายภาพ อสม.ในยุคโควิด-19 ว่า อสม.เป็นกลไกในการเชื่อมโยงกับชุมชนเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 พวกเขาสามารถทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐ ช่วยสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านในช่วงเวลาที่ไม่มีอะไรแน่นอนและเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัยและการดูแลตนเองของคน ในชุมชน

"องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย ชื่นชมไทย โดยระบุว่าไทยมีระบบการดูแลสุขภาพถึงระดับครอบครัว คือ มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. กว่า 1,040,000 คน เป็นผู้ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และช่วยดูแลประชาชนถึงในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ทำให้การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อเข้าสู่ระบบรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย และองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกได้รายงานให้คนทั่วโลกรับทราบ แสดงถึงศักยภาพด้านสาธารณสุข และเป็นตัวอย่างให้กับหลายประเทศเพื่อใช้เป็นแนวทางการควบคุมโรคได้อีกด้วย"

จากการคัดกรอง เฝ้าระวัง เคาะประตูบ้าน สู่การเป็นผู้สื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องวัคซีน โควิด-19 ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้การรณรงค์ "อสม.พร้อม บอกต่อเรื่องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19" โดยบทบาทสำคัญของ อสม.คือ 1) ให้ความรู้ประชาชนเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับ 2) สำรวจคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย 3) เชิญชวนประชาชนลงทะเบียน "หมอพร้อม" และ 3) ติดตามอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 และ 2

ทั้งนี้ หลังกลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว อสม. ยังต้องติดตามผลหลังจากการฉีด อย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 7, 14, 30 และวันที่ 60 หากผู้ที่มีแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมก็สามารถบันทึกผลผ่านแอพพ์ได้ แต่หากผู้ที่ไม่มีแอพพ์ อสม.จะเป็นผู้ติดตามผลและรายงานต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เล่าว่า เมื่อก่อน อสม.อาจเป็นเพียงคนที่ชาวสาธารณสุขคุ้นเคย แต่ตอนนี้คนทั้งประเทศ รวมไปถึงคนทั่วโลกรู้จักและยอมรับในบทบาทของ อสม. หลายองค์กรแสดงเจตนาในการที่จะช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินงานของ อสม.ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับพี่น้อง อสม. ซึ่ง อสม.เองก็ยังทำงานด้วยความเข้มแข็ง แม้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะดีขึ้น และกำลังเข้าสู่ช่วงการป้องกันโรคด้วยการรณรงค์ฉีดวัคซีน แต่ อสม.ยังคงเดินหน้าในการให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นถึงความปลอดภัยของการรับวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับการเน้นย้ำมาตรการทางสาธารณสุข คือการอยู่ห่าง ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ และใช้ไทยชนะ

"อสม.ยังคงทำหน้าที่ต่อเนื่อง ภารกิจสำคัญในช่วงนี้คือการเคาะประตูบ้านให้ความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 ซึ่งข้อมูลผลการดำเนินงานในระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม 2564 ในภาพรวม ดำเนินการไปแล้ว 323,384 หลังคาเรือน ส่วนจังหวัดพื้นที่เป้าหมายซึ่งมีการระบาดจำนวน 17 จังหวัด ดำเนินการไปแล้ว 297,672 หลังคาเรือน โดยกลุ่มเป้าหมายใน 13 จังหวัด มีการลงทะเบียนผ่าน Line Official Account : หมอพร้อม จำนวน 456,548 คน"

จากภารกิจอันหนักหน่วง ไม่แพ้นักรบชุดขาว วันที่ 20 มีนาคม 2564 จึงเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองและเชิดชูเกียรติ อสม.อย่างยิ่งใหญ่ อีกทั้งเป็นการแสดงความยินดีแก่ อสม.ดีเด่นระดับชาติทั้ง 14 สาขา โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เกียรติเป็นประธานในการเชิดชูเกียรติ และประกาศเกียรติคุณ

ไม่ว่าในสถานการณ์ปกติหรือการระบาดของโรคติดต่อ อสม. ในฐานะนักรบเสื้อเทา ที่กล้าหาญในแนวหน้า ผู้ทำงานเชื่อมประสานระหว่างประชาชน ชุมชนและเจ้าหน้าที่ด้วยจิตอาสา เสียสละ ในการดูแลสุขภาพของชาวบ้าน ก็จะยังคงเดินหน้า และมุ่งมั่นทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้หนุนเสริมด้วยขวัญและกำลังใจ ที่จะหล่อเลี้ยงให้ฟันเฟืองเล็กๆ ในชุมชนที่ชื่อ อสม.เหล่านี้ ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพให้ประชาชนคนไทย มั่นคงด้านสุขภาวะ และมั่งคั่งในคุณภาพชีวิตได้ในที่สุด
ข้อมูล : https://www.thaihealth.or.th/20-%E0%B8%A1%E0%B8%B5-%E0%B8%84-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%A1-%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2/


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar