๗ ประเภทเมืองอัจฉริยะที่คนไทยควรรู้ เตรียมพร้อมก่อนเริ่มพัฒนาเพื่อสร้างไทยให้ทัดเทียม

๗ ประเภทเมืองอัจฉริยะที่คนไทยควรรู้ เตรียมพร้อมก่อนเริ่มพัฒนาเพื่อสร้างไทยให้ทัดเทียม

เมื่อกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย คนไทยทุกคนต้องดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานแห่งความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสามารถกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มาเป็นต้นแบบเพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนา สร้างไทยให้เติบโตไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จึงได้กำหนดแผนพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะขึ้น เพื่อพัฒนาระดับพื้นที่ให้ทุกเมืองของไทยกลายเป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่และน่ามาเยือน
ทำความรู้จักกับนิยาม “เมืองอัจฉริยะ”

 “เมืองอัจฉริยะ”คือ เมืองที่สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการเมืองในด้านต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ จนเกิดประสิทธิผลที่มีคุณภาพตามมา สามารถกระชับงบประมาณในการบริหารจัดการได้ ใช้ทรัพยากรในท้องที่อย่างคุ้มค่า แถมยังช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยสร้างเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ที่สมาชิกในพื้นที่อาศัยอยู่อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่นี้ได้กำหนดประเภทของเมืองอัจฉริยะไว้ทั้งหมด ๗ ประเภท
๗ ประเภทของเมืองอัจฉริยะ
๑. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันชาญฉลาดและทันสมัยมาพัฒนาสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ การจัดการของเสีย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงสร้างพื้นที่สีเขียว และสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ กลายเป็นเมืองที่มีระบบนิเวศน์ที่ดี มีระบบบำบัดและจัดการมลพิษทั้งทางน้ำและทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ Green Zone ที่มีความร่มรื่น สดชื่น รื่นรมย์ เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ที่สร้างความสบายให้กับผู้อยู่อาศัยทั้งกายและใจ

๒. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ในเมื่อโลกกำลังขับเคลื่อนอยู่ในยุคดิจิทัล การนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมและก้าวไกลได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับทุกรูปแบบทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวอัจฉริยะ พื้นที่เกษตรที่ทันสมัย ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ถูกจัดระเบียบและพัฒนาการจัดการได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
๓. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เทคโนโลยีนำพามาซึ่งระบบการบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ เกิดการใช้ทรัพยากรด้านพลังงานที่เหมาะสม และใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด พลังงานทดแทนถูกดึงมาเป็นผู้ช่วยในกิจการที่จำเป็น ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นการแบ่งเบาการใช้พลังงานที่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติ 
๔. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ภาครัฐองค์กรสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบ การบริหารภาครัฐอัจฉริยะจะช่วยให้การดำเนินงานร่วมกับประชาชนในส่วนต่าง ๆ ทั้งด้านการบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก การให้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงให้เห็นถึงการบริหารงานที่โปร่งใส สิ่งเหล่านี้เมื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างถูกที่ถูกเวลาจะยิ่งเพิ่มศักยภาพในการทำงานของภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพ บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ และทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงประชาชนสามารถมีส่วนรวมในการแสดงออกทางความคิดผ่านนวัตกรรมบริการ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
๕. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะช่วยยกระดับคนในเมืองอัจฉริยะให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและจิตใจ และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปลอดภัย มีความสุขในทุกครัวเรือน
๖. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พัฒนาเมืองไปสู่เมืองแห่งการจราจร ขนส่ง และคมนาคมอัจฉริยะ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงทุกการเดินทางได้อย่างชาญฉลาด สะดวก หลากหลาย และทั่วถึงในทุกพื้นที่ ผู้คนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างปลอดภัยบนเส้นทางที่ได้มาตรฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อีกทั้งยังเป็นการเดินทางและขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
๗. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เพราะความรู้นั้นสำคัญ ทักษะติดตัวที่ไม่มีใครแย่งไปได้ ฉะนั้นเมืองอัจฉริยะจึงจำเป็นต้องสร้างคนอัจฉริยะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญา ทักษะ และองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวต่อไปในอนาคต เป็นเมืองที่สมาชิกทุกคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม มีเศรษฐกิจที่เสมอภาค ตลอดจนมีแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้คนได้ใช้ศึกษาค้นคว้า และสร้างสรรค์ผลงาน เตรียมพร้อมเป็นพลเมืองอัจฉริยะที่ทรงคุณค่า และสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าแนวทางการพัฒนาประเทศด้วยนโยบายเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั้ง ๗ ประเภทนั้น จำเป็นต้องใช้ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนให้ไทยก้าวไกล เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียม ประชาชนมีความสุขสบายมากขึ้น อยู่ดี กินดี ดำเนินชีวิตเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของประเทศที่ต้องการสร้างไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

อ้างอิง: สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล)
https://smartcitythailand.or.th/

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar