รัฐบาลห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง สั่งบูรณาการทุกฝ่ายรับมือ ดูแลประชาชนทุกพื้นที่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ห่วงสถานการณ์ภัยร้อนและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ รัฐบาลทราบถึงปัญหา และมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคเกษตรกรรม ความเป็นอยู่ การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมเพื่อรับมือและบรรเทาสถานการณ์ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ ได้ประสานสั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับบรรเทาสาธารณภัยให้ดูแลเรื่องน้ำ ซึ่งขณะนี้มีรถผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ และรถขนน้ำไปให้บริการประชาชน รวมถึงกำลังเร่งการขุดลอกแหล่งน้ำ และซ่อมบำรุงระบบประปาแก่ชุมชนด้วย 
สั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้นำสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยแล้ง โดยให้กองบัญชาการทหารพัฒนา กรมการทหารช่าง  มณฑลทหารบกทุกมณฑล และหน่วยทหารทุกหน่วยที่อยู่ใกล้ชุมชน ใช้รถบรรทุกน้ำของทหารฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร (โดยเฉพาะพืชที่มีมูลค่าสูง) ร่วมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในรูปแบบกองกำลังเฉพาะกิจ ซึ่งได้กำชับให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์มาทุกระยะเพื่อพิจารณาปรับแผนการดำเนินการที่เหมาะสม
นายกฯ เตรียมลงพื้นที่ ดูแลความเดือดร้อน
“ภัยแล้งเป็นเป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องเกษตรกรที่รอไม่ได้ 5-6 พฤษภาคมนี้ จะลงพื้นที่เพื่อไปรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม และร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งในภาคอีสาน ทำให้กระทบต่อการทำการเกษตรของพี่น้องประชาชน ทั้งในช่วงน้ำท่วมที่ทำให้ถนนหนทางขาดชำรุด ปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่ง การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และพนังกั้นน้ำทรุด เหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เราเคยมี "อาจสามารถโมเดล" เรามี "ทุ่งกุลาร้องไห้" ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวหลัก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการจัดทำแผนบูรณาการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถทำมาหากิน และต่อยอดด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี ที่จะทำให้เพิ่มมูลค่า ต่อยอดให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดี” นายกฯ กล่าว
ปริมาตรน้ำปัจจุบัน น้อยกว่าปี 2566 - ประสบภัยแล้ง 4 จังหวัด
สถานการณ์น้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 67) สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 41,458 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 17,516 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2566 (43,744 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 57 น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 2,286 ล้าน ลบ.ม.
    สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ระบุว่า ภัยแล้งปีนี้ ไม่ขยายวงกว้าง ปัจจุบันมีพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพียง 4 จังหวัดได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.บุรีรัมย์ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ การขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคซึ่งหน่วยงานได้เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แนวโน้มของปริมาณฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน​ พ.ค. เป็นต้นไป
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar