สื่อยุโรปชื่นชม รัฐบาลเศรษฐา วางรากฐานประชาธิปไตย-ส่งเสริมความเท่าเทียม มีบทบาทนำบนเวทีโลก

เว็บไซต์ eureporter ประเทศไอร์แลนด์ เผยแพร่บทความ เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา เรื่อง “ความก้าวหน้าเชิงบวกของประเทศไทย: การปฏิรูปการเมือง และประชาธิปไตย” โดยได้กล่าวถึงประเทศไทยยุคใหม่แห่งการปกครองภายใต้แนวร่วม 11 พรรคการเมือง ที่สะท้อนความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความครอบคลุม โดยการนำรัฐธรรมนูญ 2560 มาใช้ ซึ่งได้วางรากฐานการปฏิรูปสำคัญ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชน และรับประกันการเป็นตัวแทนของประชาชนในกระบวนการประชาธิปไตย
รัฐฯ ไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมุนษยชน ความเท่าเทียม ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
    โดย บทความดังกล่าว ได้ให้ความเห็นว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี ได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และวางรากฐานกระบวนการประชาธิปไตยที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการยอมรับ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการปฏิรูปการเมือง พร้อมดำเนินการเชิงรุก เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมให้แก่ทุกคน ทั้งในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 
ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกพันธมิตรขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน
    รัฐบาลไทย พร้อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ความร่วมมือทางเทคนิค เพื่อยกระดับกลไกสิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วม โดยนายกฯ เน้นย้ำถึงความสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมเสนอแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ดังนี้
1.    เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาปัตยกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในทุกระดับ 
2.    สร้างความพร้อมให้แก่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) 
3.    การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชน 
4.    การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเทคนิค และการเสริมสร้างขีดความสามารถ 
5.    บทบาทและความสำคัญของกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค 
6.    การมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม 
ทั้งนี้  ประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2025-2027 โดยไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกพันธมิตร และประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน


ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสถานการณ์สู้รบในเมียนมา
    จากเหตุการณ์ กลุ่มต่อต้านใช้โดรนทิ้งระเบิดโจมตีทหารเมียนมาประมาณ 200 คนที่หลบอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพฯ 2 มีการยิงปะทะกันเสียงดังสนั่นถึงฝั่งไทย เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข มีการจัดทีมดูแลสุขภาพผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าวกว่า 3,000 คน โดย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งประสานหน่วยงานเอกชน (NGO) ที่พร้อมให้การช่วยเหลือ ดูแลผู้หนีภัยฯ ที่เข้ามายังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวตามหลักมนุษยธรรม โดยจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตั้งจุดปฐมพยาบาลดูแลสุขภาพ และตรวจสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้ พร้อมทั้งมีแผนเตรียมการด้านบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์ 
ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในสังคม ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
รัฐบาลคำนึงถึงการสร้างความเท่าเทียมในสังคมเป็นหลักสำคัญ โดยเชื่อมั่นว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่พึงได้รับอย่างเสมอภาค ทุกเพศสภาพ เพศวิถี มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน การลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดย หลักการสำคัญของกฎหมาย คือ การรับรองการสมรสสำหรับบุคคลสองคนที่จะครอบคลุมบุคคลทุกเพศ จากเดิมที่อนุญาตให้แต่เฉพาะชาย - หญิง จดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น 
ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 
    การรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองปี 67 เป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องอากาศสะอาด เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษยชนที่ควรได้ที่สุด พร้อมพูดคุยแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ รัฐบาลมุ่งมั่นต่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเห็นว่าปัจจุบันไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศเป็นวาระเร่งด่วน และวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ ตลอดจนการกำหนดมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดอากาศบริสุทธิ์และมีผลที่ดีต่อสุขภาพของประชาชน  
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar