“พญานาค” ตามรอยท่องเที่ยวสายมูภาคอีสาน

การท่องเที่ยวเชิงศรัทธาทั่วโลก (Faith-based Tourism) และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Tourism) หรือ ‘การท่องเที่ยวสายมู’ 
สศช. เปิดสถานการณ์สังคมสำคัญ รับท่องเที่ยวสายมูเตลู หรือการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อและความศรัทธา กำลังอยู่ในทิศทางโตต่อเนื่อง คาดพุ่งแตะ 1.4 ล้านล้านบาท ในปี 2576 หรืออีก 9 ปี ข้างหน้า แปลว่าท่องเที่ยวสายมูทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.2% หรือเกือบ 3 เท่าตัว ภายในระยะเวลาไม่ถึงทศวรรษจากนี้

การท่องเที่ยวเชิงความเชื่อและความศรัทธากำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ประเทศไทยเรียก การท่องเที่ยวลักษณะนี้ว่า “มูเตลู” ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศจากความหลากหลายของสถานที่มูฯ และความเชื่อของคนไทยที่มีอยู่ แม้มูเตลูจะเป็นคำเฉพาะที่ถูกใช้ในประเทศไทยเท่านั้น แต่การท่องเที่ยวมูเตลูอาจเทียบได้กับ การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา (Faith-Based Tourism) ของต่างประเทศ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การแสวงบุญ และ การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Tourism) 

“พญานาค” ตามรอยท่องเที่ยวสายมูภาคอีสาน

ความเชื่อเรื่อพญานาคนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมไตรภูมิพระร่วงระบุ นาคมีลักษณะคล้ายงูใหญ่ แต่มีหงอน ดวงตาสีแดง เกล็ดหลากสี อาศัยอยู่บริเวณบาดาลใต้เขาหิมพานต์ กึ่งสัตว์ กึ่งเทพ มีพละกำลังและอิทธิฤทธิ์มาก สามารถแปลงตนและจำแลงกายได้ สำหรับพญานาคที่อยู่ในพิภพบาดาล ตามตำนานกล่าวว่า มีนาคกษัตริย์ปกครองอยู่ 9 พระองค์ ดังนี้ พญาอนันตนาคราช พญามุจลินท์นาคราช พญาภุชงค์นาคราช พญาศรีสุทโธนาคราช พญาศรีสัตตนาคราช พญาเพชรภัทรนาคราช พญานาคดำแสนศิริจันทรานาคราช พญายัสมัญนาคราช และ พญาครรตะศรีเทวานาคราช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญของไทย ด้วยขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรมากที่สุดของประเทศ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรที่สำคัญ รวมทั้งยังมีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ ด้านความเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน -ลาว ในระยะถัดไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทั้งในด้านการค้า การบริการ และการลงทุนระหว่างจีน ลาว และไทยมากขึ้น ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากในอนาคต ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขยายตัวในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ อีกทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเปลี่ยนไปจากการเน้นภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทย ลาว และจีน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ”ตามแนวคิดการเป็นฐานการผลิตของประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นประตูเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นพื้นที่ศักยภาพแห่งใหม่ของไทย

อัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่นของคนลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีคติความเชื่อเรื่อง “พญานาค” โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานี นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ และหนองคาย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงสู่ภาคการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม มาดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าสู่พื้นที่ได้มากขึ้น ท้ังในรูปของสถานที่ท่องเที่ยวและเส้นทางในการท่องเที่ยว

สะท้อนจากข้อมูลของ Isan Insight & Outlook ชี้ว่า ปัจจุบันจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวสายมูในภาคอีสานมีมากถึง 418 แห่ง ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคกลาง อีกท้ังภาคอีสานยังมีเส้นทางท่องเที่ยวสายมูเกือบ 20 แห่ง โดย จังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสายมูมากที่สุด คือ อุดรธานี 43 แห่ง เช่น คำชะโนด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสายมูที่มีชื่อเสียงอันดับต้นของประเทศไทย

สถานที่ท่องเที่ยวสายมูส่วนใหญ่ในภาคอีสาน อยู่ติดกับแม่น้ำโขง สถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค สะท้อนจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับพญานาค ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ถ้ำนาคา, บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ” 

ก้าวเข้าสู่ “ปีมะโรง” หรือ ปีงูใหญ่ มาได้หลายวันแล้ว แต่หลายคนก็ยังคงเดินสายไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่แบบนี้ และใครที่กำลังมองหาสถานที่ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แนะนำตามรอย “พญานาค” ภาคอีสาน

1. พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช จ.มุกดาหาร
“พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” หรือ “ปู่ศรีมุกดา” ตั้งอยู่บริเวณวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ บนทิวเขาที่ตั้งอยู่เคียงข้างแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดมุกดาหาร มีรูปปั้นพญานาคงามสง่าตนหนึ่งอยู่ท่ามกลางป่าเขา กำลังจ้องมองไปยังแม่น้ำโขง การสร้าง “พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” เป็นดำริของพระมหามงคล มังคลคุโณ รองเจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เพื่อให้พญานาคปกปักรักษาองค์พระเจ้าใหญ่แก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาภูมโนรมย์ และสร้างเนื่องในวาระเฉลิมฉลองการก่อตั้งวัดครบ 100 ปี และครบรอบ 36 ปีจังหวัดมุกดาหาร
พญานาคพญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช เป็นรูปปั้นพญานาคเศียรเดียวองค์ใหญ่ ขนาดลำตัวยาว 122 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร ขนาดได้สัดส่วน ลำตัวเลื้อยขดไปมาดูราวกับมีชีวิต เกล็ดสีน้ำเงินเข้มอมเขียวเป็นประกายเมื่อต้องแสงแดดงดงามยิ่งนัก พญานาคชูคอหันไปทางแม่น้ำโขงเบื้องล่างเหมือนจะคอยคุ้มครองป้องภัยให้ชาวมุกดาหาร โดยผู้ที่ออกแบบพญานาคได้อย่างงดงามก็คือนายประพัฒน์ มะนิสสา ศิลปินปูนปั้นพื้นบ้านชาวอุบลราชธานี ที่มีความศรัทธาในองค์พญานาคเป็นอย่างมาก แม้ไม่ได้จบด้านศิลปะมาโดยตรงแต่ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างงดงามยิ่ง

2. พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช จ.มุกดาหาร
“พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช” บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง แหล่งเที่ยวแก่งกะเบา ต.ป่งขาม อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร โดยประติมากรรม พญานาค มีลักษณะเป็นเกล็ดหินอ่อนสีเทาฮินดู ถือเป็นพญานาคประดับหินอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2560-2561 เป็นประติมากรรมที่มี ความสูง 11.11 เมตร ความยาวรวม 51.40 เมตร ตลอดลำตัวเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.00 เมตร สูง 1.50 เมตร ลักษณะการออกแบบของพญานาคคือองค์สีเทาเงิน ได้มาจากชื่อของจังหวัดมุกดาหาร จากอัญมณีชื่อมุกดาหาร เป็น หนึ่งในนพเก้าของอัญมณีไทย ที่กล่าวไว้ว่า “มุกดาหารหมอกมัว” ทำให้ทราบว่า พญานาคที่มีลำตัวสีขาวเทาฮินดู ทางกับพญานาคีที่มีนามว่า “พญาภุชงค์นาคราช” เป็นพญานาคประจำองค์พระศิวะเทพ มีวรกายเป็นสีเทาฮินดู พญาภุชงค์นาคราช มีอุปนิสัยตรงไปตรงมา ภายนอกมองว่าท่านดุ แต่แท้จริงแล้วท่านมีเมตตาสูง รูปร่างสง่างาม ท่านชอบศึกษาธรรมเป็นนิสัย หลังจากสละจากกษัตริย์แล้ว ท่านได้บำเพ็ญตบะเป็นฤาษี และบำเพ็ญตบะ มาจนทุกวันนี้
ใครที่กราบสักการะมีความเชื่อกันว่า ผู้ใดที่มากราบไหว้สักการะ และได้ลอดท้ององค์พญาศรีภุชงค์มุกดาหารแล้วนั้น จะมีความสุขสมหวังดังคำอธิษฐาน โดยเชื่อว่า ซุ้มแรก อันเป็นซุ้มลอกคราบ หมาบถึง การมีสุขภาพแข็งแรง ส่วนซุ้มที่สอง คือบริเวณใต้ท้ององค์พญานาค หมายถึง ความร่ำรวย และซุ้มที่สาม คือส่วนหาง หมายถึง ความสำเร็จสัมฤทธิ์ผล

3. พญาศรีสัตตนาคราช จ.นครพนม
“พญาศรีสัตตนาคราช” บริเวณริมฝั่งโขง ในตัวเมืองนครพนม เชื่อกันว่าเป็นพญานาคผู้สั่งสมบารมีแก่กล้ามีอิทธิฤทธิ์ล้ำเลิศ และเป็นผู้ให้กำเนิดแม่น้ำ “อุรงคนที” หรือ “แม่น้ำโขง” ในปัจจุบัน (ข้อมูลจากป้ายที่เขียนบอกไว้ข้างๆประติมากรรมพญาศรีสัตตนาคราช) ด้วยเหตุนี้ทางจังหวัดนครพนมจึงได้ดำเนินการสร้างประติมากรรมพญาศรีสัตตนาคราชขึ้น พร้อมลานพญาศรีสัตตนาคราช เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหยอนใจ และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดนครพนม
พญาศรีสัตตนาคราชตนนี้สร้างขึ้นด้วยแนวคิดว่า พญานาคกำลังโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำโขง มีปลายหางอยู่กลางสระน้ำ พร้อมน้ำพุรอบ 8 ทิศ เพื่อให้เห็นว่าพญานาคกำลังเลื้อยขึ้นมาจากแม่น้ำโขงเพื่อมาอยู่ที่ดินแดนแห่งความสุขแห่งนี้ โดยมีซุ้มลำตัวพญานาคเป็นลายโปร่งแสง แสดงการลอกคราบ สื่อถึงการละทิ้งหลุดสิ้นจากกิเลส ส่วนหัวมุดลงไปใต้ฐานแท่นประทับ แล้วโผล่เศียรขึ้นมาเป็นองค์พญาศรีสัตตนาคราช มีขนดลำตัว 3 ชั้น มี 7 เศียร ชูคอสง่างาม พ่นน้ำ และเศียรทะยานไปข้างหน้า สื่อความว่า เพื่อพัฒนานครพนมให้เจริญรุ่งเรืองและคงอยู่กับดินแดนแห่งนี้ตลอดไป

4. พญานาคราชวิรูปักโข จ.ร้อยเอ็ด
“พญานาคราชวิรูปักโข” อยู่ที่วัดภูกุ้มข้าว อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด องค์พญานาคเป็นสีทองงดงามยิ่ง และมีลักษณะคล้ายกับองค์พญานาคที่ภูมโนรมย์ เนื่องจากมีช่างปั้นคนเดียวกัน ที่มาการสร้าง องค์วิรูปักโขนาคราช พญานาคสีทอง เกิดจากอาจารย์แมน หรือ อดีตครูบาแมนได้ฝันเห็นพญานาคขึ้นมาจากหนองน้ำ โดยส่วนตัวท่านแล้วเป็นคนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็มีเรื่องของพญานาคเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างองค์วิรูปักโขนาคราชที่วัดแห่งนี้

5. พญาศรีสุทโธนาคราช จ.อุดรธานี
"พญาศรีสุทโธนาคราช" อยู่ที่วัดศิริสุทโธ ตั้งอยู่ใน อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นเหมือนเกาะลอยน้ำที่เต็มไปด้วย "ต้นชะโนด" มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น มหาเทพนาคา สะพานปูนรูปปั้นพญานาค บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และรากต้นมะเดื่อยักษ์ อีกทั้งยังมีเหตุการณ์น่าเหลือเชื่อที่ครั้งหนึ่งอำเภอบ้านดุงเคยน้ำท่วม แต่น้ำบริเวณคำชะโนด ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

เชื่อกันว่าคำชะโนด เป็นพื้นที่นี้ถูกปกครองโดย พญานาคราชปู่ศรีสุทโธ และ องค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี หรือชื่อที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า "จ้าวปู่ศรีสุทโธ" และ "จ้าวย่าศรีปทุมมา" ซึ่งจ้าวปู่ศรีสุทโธ จะมีวรกายสีเขียวมรกต มีเศียรสีทอง แผลงเศียรได้ 9 เศียร ส่วนจ้าวย่าศรีปทุมมาผู้เป็นพระชายา แผลงเศียรได้ 5 เศียร โดยศาลของจ้าวปู่จะอยู่ด้านในของป่าคำชะโนด มีผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามากราบไหว้กับแบบไม่ขาดสาย

6. พญานาคดำแสนศิริจันทรานาคราช จ.สกลนคร
"พญานาคดำแสนศิริจันทรานาคราช" อยู่ที่บ้านมะขามป้อม ต.ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร เรียกได้ว่า เป็นเจ้าแห่งทรัพย์สมบัติเลย มีอิทธิฤทธิ์ในการเรียกทรัพย์สิน เงินทอง โชคลาภต่าง ๆ การที่ผู้ศรัทธามาบูชานั้นก็เหมือนการเสริมบารมีให้แก่ตนเอง ให้นำพาสิ่งดี ๆ เข้ามา หลังจากการขอพรแล้วจะเห็นผลได้เร็วก็ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาแต่ละคนประกอบด้วย เชื่อกันว่าขอพรแล้วจะประสบความสำเร็จ มีความสุข อยู่ดี ปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ นั่นเอง

7. ถ้ำนาคา จ.บึงกาฬ
"ถ้ำนาคา" ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ รอยต่อระหว่างจังหวัดบึงกาฬกับนครพนม ภายในถ้ำจะพบกับหิน ที่มีรูปร่างคล้ายกับ งูยักษ์ หรือ ลำตัวของพญานาค มีลักษณะเหมือน เกล็ดของงูขนาดใหญ่ ซึ่งในทางธรณีวิทยา เกิดจากหินบนพื้นผิวโลกผ่านการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร้อนเย็นสลับกัน กระบวนการทางกายภาพเกิดการผุพัง ปริแตกตามพื้นผิวโดยรอบหิน เรียกว่า ซันแครก (sun crack)

ตามตำนานความเชื่อเรื่องเจ้าปู่อือลือที่ถูกสาปให้เป็นพญานาคและถูกจองจำ จะพ้นคำสาปและทำให้พื้นที่นั้นได้เป็นที่รู้จักและเจริญรุ่งเรือง ก็ต่อเมื่อครบ 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการครบรอบการก่อตั้งจังหวัดบึงกาฬ 10 ปี ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้มีผู้ได้มาพบเห็นถ้ำแห่งนี้ และเกิดการกระจายข่าวไปตามความเชื่อส่วนบุคคลจนเป็นที่โด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน

8. สระมุจลินทร์ จ.หนองคาย
"สระมุจลินทร์" ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน ต.พระธาตุบังพวน อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย สระน้ำโบราณที่มีบันทึกในหนังสือใบลาน ที่เขียนเป็นภาษามคธ เรียกชื่อว่า “สระมังคละน้ำเที่ยงหมัน” 

เมื่อครั้งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บรรจุไว้ในองค์พระธาตุ ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาด มีสายน้ำพวยพุ่งออกมาจากพื้นดิน พระมหาเทพหลวงและพระมหาเทพพล พระภิกษุที่ดูแลองค์พระธาตุ ได้สังเกตเห็นว่า มีสายน้ำพุ่งขึ้นมาตลอดเวลา จากปล่องภูพญานาคที่เฝ้ารักษาพระธาตุบังพวน จึงได้ชักชวนญาติโยมขุดสระรองรับน้ำเอาไว้ และสร้างรูปปั้นพญานาค 7 เศียร ไว้กลางสระแห่งนี้ รูปแบบศิลปะแบบล้านช้าง ในสมัยพระเจ้าวิชลราช กษัตริย์ล้านช้างได้เสด็จมานมัสการพระธาตุ (ช่วงพ.ศ.2043-2063) โปรดให้มีการปรับปรุงสระน้ำแห่งนี้ และนิมนต์พระคุณเจ้า จัดทำพิธีมหาพุทธาภิเษก สระมุจลินท์ถือเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และนำน้ำศักดิ์สิทธิแห่งนี้ไปใช้ในพิธีสำคัญในราชสำนักล้านช้างเป็นต้นมา ปัจจุบัน “สระมุจลินท์” แห่งนี้ ถือเป็นสระน้ำสำคัญประจำจังหวัดหนองคาย น้ำในสระแห่งนี้ถูกนำไปใช้ในพิธีสรงมูรธาภิเษก พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และพิธีศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ๆ เป็นประจำ


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar