ผู้ประกันตน ม.33 "ว่างงาน" ลงทะเบียนรับเงินชดเชยได้

"ว่างงาน" อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะยังมีสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ม.33 รองรับอยู่ ไม่ว่าคุณจะว่างงานจากเหตุผลอะไรก็ตาม แล้วไม่รู้ว่าจะหาทางออกยังไง ประกันสังคมว่างงานจะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกันตนให้มีเงินทุน และสามารถเริ่มต้นหางานใหม่ได้ โดยบทความนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกันตนได้รู้ถึงสิทธิและประโยชน์ที่ควรได้รับเมื่อต้องว่างงาน ตั้งสติให้ดีแล้ว แล้วมาหาคำตอบกันได้เลย

ทำไมต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ว่างงาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกกังวลและทุกข์ใจอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อต้องตกอยู่ในสถานะคนว่างงาน ผู้ประกันตนสามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนด อีกทั้งขั้นตอนการขึ้นทะเบียนก็ไม่ได้ยุ่งยาก สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ เพียงทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน ผู้ประกันตนก็จะได้รับความช่วยเหลือยามว่างงาน อย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยให้มีเวลาหางานใหม่โดยไม่ต้องร้อนใจมากจนเกินไป ขึ้นทะเบียนว่างงานไว้ สบายใจขึ้น

การขึ้นทะเบียนว่างงานประกันสังคม

  1. เป็นผู้ประกันตน ม.33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน ไม่ว่าจะลาออกเอง เลิกจ้าง หรือว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (กรณีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19)
  2. ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
  3. ขึ้นทะเบียนว่างงานผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน
  4. รายงานตัวออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน เดือนละ 1 ครั้ง
  5. มีความพร้อมและสามารถทำงานที่จัดหาให้ได้
  6. ไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
  7. ไม่ถูกเลิกจ้างในกรณีต่อไปนี้
    • ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
    • จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
    • ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน 
    • ขาดงาน 7 วันติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
    • ประมาทจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง
    • ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
  1. ไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
  2. ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนประกันว่างงาน
ผู้ประกันตน ม.33 ที่ว่างงานสามารถขึ้นทะเบียนได้ด้วยตัวเอง โดยต้องทำตามขั้นตอนทั้งช่องทางออนไลน์ และ จุดบริการของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

ช่องทาง
การขึ้นทะเบียน
ออนไลน์ ขึ้นทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน
จุดบริการสำนักงานประกันสังคม ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) ได้ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1694 ในวันและเวลาราชการ (08.30-16.30 น.)

ขั้นตอนและเอกสารที่ใช้
ช่องทางออนไลน์

ลงทะเบียนผ่าน เว็บไซต์กรมการจัดหางาน โดยกรอกข้อมูล และอัปโหลดเอกสารที่จำเป็น ดังนี้

  1. ข้อมูลส่วนตัว
  2. วุฒิการศึกษา
  3. สถานะการออกจากงาน: ลาออก หรือเลิกจ้าง
  4. ข้อมูลต้องการหางานทำ: ค้นหาตำแหน่งงานว่าง หรือเลือกสมัครงาน
  5. ข้อมูลการประกอบอาชีพอิสระ: ระบุประเภทอาชีพ
  6. กรอกข้อมูลในแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน สปส. 2-01/7
  7. แนบไฟล์สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์) ผ่าน 8 ธนาคาร ได้แก่ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กรุงเทพ ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กสิกรไทย ธ.ทหารไทยธนชาต ธ.ซีไอเอ็มบีไทย ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย

จุดบริการ สำนักงานประกันสังคม
นำส่งและยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมสาขาใกล้บ้าน โดยใช้เอกสารดังนี้

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
  2. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  3. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
  4. หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) (ถ้ามี)
  5. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
  6. หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย (กรณีผู้ประกันตนว่างงานจากเหตุสุดวิสัย)
  7. สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์) ผ่าน 10 ธนาคาร

ไม่ถูกทอดทิ้งเมื่อต้องว่างงาน
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน ตามเงื่อนไขการจ่ายประโยชน์ทดแทนประกันสังคม ว่างงาน ดังนี้

กรณีว่างงาน
ความคุ้มครอง
ถูกเลิกจ้าง
- ได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 180 วัน/ปี
ลาออก หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง
- ได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 90 วัน/ปี
การคำนวณเงินทดแทนทั้ง 2 กรณี ให้คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

*หาก 1 ปี มีการขอรับเงินทดแทนมากกว่า 1 ครั้ง เพราะถูกเลิกจ้าง หรือถูกเลิกจ้างและลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง สามารถรับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 180 วัน

หาก 1 ปี มีการขอรับเงินทดแทนมากกว่า 1 ครั้ง เพราะลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง สามารถรับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

หมายเหตุ ในช่วงวันที่ 1 มีค. 2563 – 28 กพ. 2565 ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิเงินทดแทนในอัตราเฉพาะกิจ ดังนี้

  • กรณีเลิกจ้าง จ่าย 70% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วัน
  • กรณีลาออก จ่าย 45% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

สามารถรับเงินทดแทนได้ที่ไหน
สำนักงานประกันสังคมจะทำการโอนเงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิให้ผู้ประกันตน ประกันสังคมว่างงาน เดือนละ 1 ครั้ง ผ่านทางบัญชีเงินฝากธนาคารที่แจ้งไว้ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน

แหล่งที่มา : ประกันตน ม.33 ว่างงาน ตกงาน ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินชดเชยได้


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar