30 เมษายน วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย : สิทธิผู้บริโภคไทยต้องได้รับความคุ้มครอง

       หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าประเทศไทยก็มี “วันคุ้มครองผู้บริโภค” เหมือนกัน เนื่องจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือบริการในปัจจุบันได้ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ไม่รู้เท่าทัน ตกเป็นเหยื่อ ถูกเอาเปรียบได้รับความเดือนร้อน ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดหรือโปรโมชั่น ด้วยเหตุนี้ในปี 2522 สมัยที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญ และความจำเป็น ของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายสมภพ โหตระกิตย์ เป็นประธานกรรมการการปฏิบัติงาน และจัดองค์การของรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ต่อมาได้มีการพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วย “การคุ้มครองผู้บริโภค” นำร่างขึ้นบังคมทูล และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 30 เมษายน 2522  และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีผลการใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมา และนับตั้งแต่นั้น ประเทศไทยได้ถือเอาวันที่ 30 เมษายนของทุกปี เป็น “วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย”

       สิทธิที่ได้รับจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีดังนี้

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูก ต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่ จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพีย งพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความ สมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

ปัญหาผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ การพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในประเทศไทยมุ่งเน้นเพียงแก้ไขปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าการแก้ไขเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบ อีกทั้งหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคแม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็มีเพียงองค์กรของรัฐ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีผู้แทนโดยตรงที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้ในการสะท้อนปัญหาของตนเองแก่รัฐ ดังนั้น จะต้องยกระดับปัญหาปัจเจกขึ้นเป็นการแก้ไขเชิงโครงสร้าง เพื่อส่งเสริมให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างยั่งยืน

จึงมีความพยายามจัดตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาคประชาชน ที่จะทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานของรัฐ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค

ตัวแทนผู้บริโภคทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นเสียงให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังสามารถเปิดเผยข้อมูลสินค้า ตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค และสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคให้สามารถแก้ปัญหาผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ได้   

การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นเสมือนตัวแทนของผู้บริโภคอันยาวนานกว่า 24 ปี ในที่สุด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ประกาศจัดตั้ง ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค’ ที่เกิดจากการรวมตัวองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้อย่างเบ็ดเสร็จ ครบ จบ ในที่เดียว (One-stop Service)

ไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่มีสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ทำหน้าที่ช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทำงาน 8 ด้านและอีก 1 คณะทำงาน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานด้านการศึกษา

ผู้ที่ประสบปัญหา ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อขายสินค้าหรือบริการสามารถยื่นเรื่องต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคได้โดยตรง เพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ยหรือฟ้องคดีแทนผู้บริโภค พร้อมดำเนินการอื่น ๆ จนกว่าจะสิ้นสุด 

สภาผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน รวมทั้งเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการให้ความคิดเห็น เสนอแนะนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน “เพราะทุกคน คือ ผู้บริโภค”

แหล่งที่มา : วันคุ้มครองผู้บริโภค” สิทธิที่ผู้บริโภคพึ่งรู้


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar