เมาแล้วขับ-คุมประพฤติ เทศกาลสงกรานต์

สงกรานต์ยอดคุมประพฤติเมาสะสม 3 วันช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ 1,631 คดี  
(14 เม.ย. 67) นายเรืองศักดิ์  สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึง สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ ของวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา (วันที่ 3 ของ 7 วันอันตราย) ว่า มีคดีทั้งสิ้น 249 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 242 คดี และ คดีขับเสพ 7 คดี โดยสถิติจังหวัดที่มีคดีเมาขับยอดสะสม 3 วันสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 222 คดี เชียงใหม่ 125 คดี และจังหวัดนนทบุรี 120 คดี ตามลำดับ โดยเมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 พบว่า ลดลง จำนวน 1,603  คดี คิดเป็นร้อยละ 86.88  แบ่งเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 1,845 คดี และปี 2567 จำนวน 242  คดี 
ยอดสะสม 3 วันของ 7 วันอันตราย (11-13 เมษายน 2567) จำนวน 1,745  คดี จำแนกเป็น
•    คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,631 คดี 
•    คดีขับรถประมาท 3 คดี 
•    คดีขับซิ่ง 0 คดี  
•    คดีขับเสพ 120 คดี 
ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บริเวณจุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น จำนวน 170 จุด โดยมีผู้ถูกคุมความประพฤติ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย ศูนย์เครือข่ายยุติธรรมชุมชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 3,990 คน เพื่อร่วมกันแจกน้ำดื่ม กาแฟ และออกเยี่ยมจุดตรวจบริการประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนเดินทางอย่างปลอดภัย

รมว.ยุติธรรม รณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเทศกาลสงกรานต์ 2567
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานแถลงข่าวศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ และรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” โดยจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน   51,496 คน ซึ่ง ศปถ. ได้ประสานจังหวัดคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติทางถนนผ่านกลไกในพื้นที่ โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองและอาสาสมัคร เฝ้าระวังจุดเสี่ยงบริเวณถนนทางหลวง เส้นทางสายรอง ถนน อบต. หมู่บ้าน พร้อมเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรรมเสี่ยงอุบัติเหตุและผู้กระทำความผิดซ้ำตามกฎหมายจราจรทางบก รวมถึงดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณที่มีการพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) และสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งควบคุมสถานบริการให้เปิด - ปิด ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด สำหรับจังหวัดที่มีการสัญจรทางน้ำและแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำให้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย

สถิติเมาแล้วขับช่วงสงกรานต์เชียงใหม่ ถูกสั่งฟ้องกว่า 600 คดี
ร้อยตำรวจเอกหญิงชญานิศ กาชีรัตน์ อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงเชียงใหม่ แสดงความห่วยใย จับนักดื่มเมาแล้วขับลงโทษส่งฟ้องศาลไปแล้วกว่า 600 คดี ในช่วง 2 วันแรกของวันสงกรานต์ ซึ่ง พนักงานสอบสวนได้สั่งฟ้องผู้กระทำความผิดจากการขับรถขณะเมาสุราหรือของมึนเมา  โดยทุกรายได้ถูกดำเนินคดีสั่งฟ้องศาล 
ขณะที่ อัตราโทษสำหรับบุคคลที่มีอายุเกินกว่า 20 ปี เมาแล้วขับรถ ถ้ามีใบอนุญาตขับขี่ และตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  จะถูกดำเนินคดีจำคุก ปรับ ถูกพักใช้ใบอุนญาต และเพิกถอนใบขับขี่ ส่วนบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี มีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว กฎหมายกำหนดให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 20  มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าถูกจับได้จะมีอัตราโทษเท่ากับประชาชนที่มีอายุเกิน 20 ปีเช่นกัน ทั้งนี้บุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ จะถูกเพิ่มโทษอีก 1 ใน 3 โดยต้องรับโทษจำคุกและถูกปรับด้วย ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียง 3 ฝา หรือดื่มเบียร์ 1 กระป๋อง ก็ถือว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

รัฐบาลออกมาตรการ 5 ข้อ คุมเข้มช่วงสงกรานต์ 
•    กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ 
•    เพิ่มจำนวนด่านชุมชน เพิ่มความถี่การเรียกตรวจ เพื่อการคัดกรองคนเมาสุรา  
•    ตรวจระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย ถ้าพบผู้บาดเจ็บอายุต่ำกว่า 20 ปี เมาสุรา ให้สอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับร้านค้าที่จำหน่าย  
•    กวดขันการปฏิบัติตามกฎหมาย ห้ามดื่มแอลกอฮอล์บนทางตาม พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 
•    ส่งต่อผู้ถูกคุมความประพฤติ ฐานขับรถขณะเมาสุราทุกราย เข้าสู่กระบวนการบำบัด 
ทั้งนี้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ และขอให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด/กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ร้านค้าและประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar