เปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567

กระทรวงมหาดไทย เปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้แนวคิด “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง สร้างการสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยให้กับประชาชน ให้บรรลุเป้าหมาย ลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง 
ในช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 ที่มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เฝ้าระวังและป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนทุกรูปแบบ เช่น การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ การใช้อุปกรณ์นิรภัย และการบรรทุกท้ายกระบะ รวมถึงไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ฯลฯ 
อุบัติเหตุวันแรกของ 7 วันเฝ้าระวังอันตราย
    ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯ ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน 2567 
•    เกิดอุบัติเหตุ 234 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 248 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย 
•    สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.02 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 16.67 
•    ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.07
•    จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา (11 ครั้ง) 
•    จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (3 ราย)
สตช.เตือน 8 สิ่งต้องระวัง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
    1. สภาพของคนและยานพาหนะในการเดินทาง ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ศึกษาเส้นทาง และควรตรวจเช็คสภาพรถให้มีความพร้อม 
2. การขับขี่รถจักรยานยนต์ ควรสวมใส่หมวกนิรภัยตลอดเวลาที่ขับขี่ ทั้งคนขับและคนซ้อน เมื่อถึงบริเวณที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ ควรขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ ไม่เบรกกะทันหัน อาจทำให้รถเสียหลัก และควรใช้มือทั้งสองจับแฮนด์รถจักรยานยนต์ไว้ให้มั่น
    3. ไม่ขับขี่ขณะเมาสุรา เพราะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ จนผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาต
4. ไม่โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมข้อความชักชวน อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
    5. ไม่โพสต์ภาพวาบหวิวหรือภาพลามก เพราะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีลักษณะอันลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
6. การถูกทำอนาจารหรือคุกคามทางเพศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตามสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมมีประชาชนจำนวนมาก ซึ่งผู้ไม่หวังดีอาจอาศัยจังหวะทำอนาจารหรือคุกคามทางเพศได้ โดยเฉพาะผู้ที่แต่งกายวาบหวิว จะต้องระวังตัวเป็นพิเศษ
    7. การถูกลักทรัพย์ ประชาชนส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด อาจเป็นโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีเข้าไปลักทรัพย์ จึงควรติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือเข้าร่วมโครงการฝากบ้าน 4.0 รวมทั้งไม่ควรนำทรัพย์สินมีค่าติดตัวไปเล่นน้ำสงกรานต์ อาจเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพได้
    8. อุบัติเหตุจากการเล่นน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเด็กและเยาวชน ทั้งเล่นน้ำท้ายรถกระบะ การลงไปว่ายน้ำในลำคลอง สาดน้ำหรือฉีดน้ำใส่รถจักรยานยนต์ อาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงชีวิตได้ และควรดูแลบุตรหลานอยู่ตลอดเวลา
หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่
•    สายด่วน 191 
•    สายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 
•    พื้นที่กรุงเทพมหานครที่ สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง
•    สายด่วน ปภ. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง 
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar