พัฒนาแรงงานสตรี สร้างความเท่าเทียม และการทำงานที่มีคุณค่า

"ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อแรงงานในหลากหลายอาชีพ ที่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานสตรีที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจสังคม และการจ้างงาน"

แรงงานสตรี เป็นอีกหนึ่งกลุ่มแรงงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญในแง่ของการกำหนดนโยบายบทบาทของสตรีเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม รวมถึงการกำหนดรูปแบบการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของสตรีในสังคม เพื่อให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม สร้างความมั่นคงและรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรี รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถและการพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญในการปกป้อง ช่วยเหลือ สร้างความมั่นคงและรายได้ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โอกาสสตรีได้มีความก้าวหน้าและได้รับการพัฒนาในหลายด้าน โดยผ่านการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อีกส่วนหนึ่งที่ดำเนินการคือ การเพิ่มขีดความสามารถของสตรี ด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานสตรี ได้รับการฝึกอบรม โดยเน้นอาชีพที่มีการจ้างงานสตรีเป็นส่วนใหญ่ เช่น พัฒนาทักษะด้านการท่องเที่ยวและการบริการ อาทิ โรงแรม นวด สปาและร้านอาหาร จัดอบรมให้ความรู้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการที่เป็นสตรี ให้มีความรู้ด้านการวิเคราะห์ เพิ่มทักษะ STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) เพื่อรณรงค์สนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้หญิงสามารถสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าและสร้างสรรค์ รวมทั้งพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรีและครอบครัว เช่น เงินโบนัส เงินช่วยเหลือ เงินรางวัล การประกันชีวิต ชุดทำงานที่พักอาศัยรถรับส่ง เป็นต้น ครอบคลุมถึงการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลของบุคคลในครอบครัวของลูกจ้าง ค่าคลอดบุตร ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเล่าเรียนบุตร การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการ การพัฒนาความรู้และศักยภาพในการทำงานของแรงงานสตรี

          กระทรวงแรงงาน ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการทุกมิติเพื่อแรงงานสตรีทั้งการจ้างงาน การฝึกอบรมทักษะฝีมือ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ การคุ้มครองดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

แหล่งที่มา : กระทรวงแรงงาน


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar