เพิ่มสวัสดิการแรงงานสตรีก้าวสำคัญสู่ความเสมอภาค

"แรงงานสตรี"
นับว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยซึ่งในปัจจุบันจำนวนแรงงานสตรีทั้งในและนอกระบบมีมากกว่า 30 ล้านคน จากตัวเลขสถิติแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ สิ้นปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 44% ของแรงงานทั้งหมด

               แรงงานสตรีมีความหลากหลายในสาขาอาชีพและยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยสตรีเหล่านี้มีบทบาทและได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้ และพึ่งพาตนเองได้ ประกอบกับสังคมปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้สตรีมีโอกาสแสดงศักยภาพได้อย่างเปิดกว้างแต่อย่างไรก็ดีแรงงานสตรีมักเผชิญกับปัญหาหลายประการ เช่นช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ การเข้าถึงสวัสดิการที่จำกัด และภาระงานดูแลครอบครัว เป็นต้น กระทรวงแรงงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้จึงเดินหน้าผลักดันนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสวัสดิการแรงงานสตรี ส่งเสริมความเสมอภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรี

               กระทรวงแรงงานโดยการนำของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายพิพัฒน์ รัชกิจประการได้ให้ความสำคัญกับแรงงานสตรีเพราะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยได้กำหนดนโยบายด้านแรงงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด "ทักษะดี มีงานทำหลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ" เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานสตรี และคุ้มครองดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม มีรายได้ และมีความมั่นคงในชีวิต มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมความเสมอภาคและคุ้มครองแรงงานหญิงผ่านนโยบายและสวัสดิการใหม่ ๆ มากมายในปี 2567

มาตรการสำคัญที่กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการ ได้แก่

  • วันลาคลอด 98 วัน และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนจากเดิมจ่ายเพียง 45 วัน
  • สิทธิลาคลอดให้กับคู่สมรสชาย เพื่อดูแลภรรยาและบุตรได้ตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการ
  • ดูแลสิทธิประโยชน์ ประกันสังคมตรวจสุขภาพเชิงรุกเพื่อแรงงานสตรี
  • เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษา ด้วยการผ่าตัตหรือทำหัตถการ ในกลุ่มโรคสตรี
  • ส่งเสริม การประกอบอาชีพแก่สตรีให้มีทักษะฝีมือ
  • สร้างโอกาสให้สตรีเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้แทนในกลไกทวิภาคีในสถานประกอบกิจการเพื่อให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาการดำเนินงานด้านแรงงานอันเป็นประโยชน์โดยรวมต่อสังคมด้านแรงงาน

               นโยบายเพิ่มสวัสติการให้แก่แรงงานสตรีของกระทรวงแรงงานถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคมการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทในเศรษฐกิจอย่างเต็มศักยภาพจะนำไปสู่ความเท่าเทียมในสังคมได้อย่างยั่งยืน และสร้างสังคมที่ผู้หญิงสามารถทำงานและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

แหล่งที่มา : กระทรวงแรงงาน


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar