สธ. หารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76

  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทนไทยหารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุข กับบังกลาเทศ มัลดีฟส์ และผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 เพื่อการพัฒนาทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรทางการแพทย์ การศึกษา วิจัย และการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ
          เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ที่ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นำคณะผู้บริหาร หารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับประเทศบังกลาเทศ มัลดีฟส์ และผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 โดยในการหารือกับ H.E. Mr. Zahid Maleque รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวบังกลาเทศ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวบังกลาเทศ ทางบังกลาเทศมีความสนใจพัฒนาความร่วมมือด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (Medical devices) นอกจากนี้ ยังขอให้ไทยสนับสนุน Mrs. Saima Wazed Hossain ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แทน Dr. Poonam Khetrapal Singhที่จะหมดวาระในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งนายอนุทินได้กล่าวยืนยันให้การสนับสนุน Mrs. Hossain พร้อมขอให้สนับสนุนการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของไทย หากได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนต่อไปด้วย
          จากนั้นได้หารือกับ H.E. Mr. Ahmed Naseen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐมัลดีฟส์
ในการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐมัลดีฟส์ โดยฝ่ายไทยยินดีพัฒนาความร่วมมือในประเด็นและสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านสาธารณสุขร่วมกัน เช่น การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข นักศึกษาแพทย์ ข้อมูลด้านสาธารณสุข การวิจัยร่วม และการศึกษาฝึกอบรมด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านงานอนามัยครอบครัว (Family health care) โดยจะได้หารือกันในรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมความร่วมมือต่อไป
          สำหรับการหารือกับ Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การอนามัยโลกที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO Country Cooperation Strategy : CCS) ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานที่มีผลกระทบสูงต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ โดยระดมทุนทางสังคม ปัญญา
และงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจนทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขระดับโลกและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งได้เชิญผู้แทนระดับสูงจากองค์การอนามัยโลก เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2567 (Prince Mahidol Award Conference: PMAC 2024) ในฐานะที่องค์การอนามัยโลกเป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมดังกล่าว และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ (Global Health Professional Education Conference) ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และองค์การอนามัยโลกเป็นเจ้าภาพร่วม
          นอกจากนี้ คณะฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน เรื่อง “สามารถเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการค้าและสุขภาพได้หรือไม่? (Trade and Health Policy Coherence: Mission possible?) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ สำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ นครเจนีวา โดยผู้เข้าร่วมได้อภิปรายเกี่ยวกับข้อมติและข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก และกรอบความร่วมมืออาทิ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพื่อค้นหาความสอดคล้องกันระหว่างนโยบายด้านการค้าและด้านสุขภาพ ปัญหาและอุปสรรค ช่องว่างต่างๆ ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่องราวความสำเร็จจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก

ที่มา : 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar