อว. ชูศักยภาพงานวิจัยใช้ได้จริง สร้างโอกาสคนไทยก้าวไกลระดับโลก ตอกย้ำภารกิจขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ "พลิกโฉมให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วและพร้อมสำหรับโลกอนาคต"

   วันที่ 26 เม.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน "บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 หรือ PMUC Research for Thailand's Competitiveness 2023" พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ และเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) เพื่อขยายผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่าง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด. หรือ depa) และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ฉบับที่ 2 ในด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด (Carbon Footprint) ระหว่าง บพข. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้อง Ballroom 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

         ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า บพข. เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นมาตอนที่มีสถานการณ์โควิดระบาด ซึ่งได้มีส่วนให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องโควิดจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เช่น เรื่องของวัคซีน ห้องความดันลบ เป็นต้น ทางด้านมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนวิจัยต่าง ๆ ก็สามารถดำเนินงานที่วางไว้ได้ดี เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีความก้าวหน้า และแข็งแกร่ง ไทยเรามีความสามารถในการแข่งขันมาก ตอนนี้ชาติเราเป็นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมากขึ้น แต่ก่อนเราคิดแต่จะซื้อเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันเราสามารถหาวิธีที่ทำเองได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธความร่วมมือจากต่างชาติ เช่น อีก 5 ปี จะได้เห็นยานอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งสร้างโดยฝีมือคนไทย ขณะที่ตอนนี้ไทยก็มีเครื่องโทคาแมค เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันเครื่องแรกของไทย นอกจากนั้นเราเป็นชาติไม่กี่ชาติในเอเชียที่มีเครื่องฉายแสงซินโครตรอน ทำหน้าที่สร้างปฏิกิริยาฟิวชัน

 

          ขณะนี้กำลังชวนให้ทุกคนเห็นอะไรบางอย่างจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่เพิ่มมากขึ้น จากการที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวง อว. มาได้มองเห็นภาพรวมของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น "คนไทยอาจไม่ใช่คนที่เก่งมาก แต่เป็นชาติที่คนอยากทำงานด้วย" ไทยเป็นประเทศที่คนไปมาหาสู่มากที่สุด เป็นประเทศที่คนอยากมาลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ถ้าวันนี้เราเริ่มต้นนับ 1 เราจะไม่ทันคนอื่น เราต้องเริ่มนับที่ 5-6 ไปเลย โดยร่วมกับชาติวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้เราสามารถก้าวกระโดดไปได้ไกล สำหรับขีดความสามารถที่ไทยจะเพิ่มขึ้นได้ น่าจะเป็นในด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพราะหลายชาติมีความสนใจในเรื่องนี้ของไทย จึงอยากให้หน่วยงาน บพข. เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ถ้าสามารถเข้ามาดำเนินการได้ ขีดความสามารถในด้านนี้จะทำให้เราเป็นชาติที่พัฒนาแล้วและเราจะมองเห็นภาพของประเทศได้ชัดมากขึ้น

พลาดไม่ได้กับการนำเสนอผลงานวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง (Research Pitching) ที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โอกาสของนวัตกรรมไทยก้าวไกลระดับโลก เปิดตัวสู่สากลอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก กับงาน "บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม หรือ PMUC 26 - 27 เมษายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ที่มา 

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar