สิริอร  สุทธิปริญญานนท์ LFC#12 ยึดสัมมาชีพ “ธุรกิจโตคู่ชุมชน”

 

สิริอร สุทธิปริญญานนท์ พกพาดีกรีปริญญาด้านกฎหมาย จากรั้วจามจุรี มาดูแลธุรกิจครอบครัวในฐานะผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่นหลายแห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งยังผ่านการอบรมหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” (Leadership for Change- LFC) รุ่นที่ 12  ที่จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ

เธอเล่าว่า แม้ไม่ได้ทำงานด้านกฎหมาย แต่ความมีเหตุมีผลซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับจากการเรียนกฎหมาย สามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจหลายต่อหลายเรื่อง ขณะที่การเข้าอบรมหลักสูตร LFC เป็นเสมือนการตอกย้ำแนวทางการทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันที่โตคู่กับชุมชนของเธอว่า เดินมาถูกทางแล้ว

“ธุรกิจไม่สามารถโตคนเดียวได้ เพราะเราอยู่ในสังคมหลากหลายที่เกี่ยวข้องกัน ถ้าชุมชนไม่สามารถสร้างรายได้ จะมีกำลังซื้อมาซื้อกับเราไหม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องทำให้คนรอบๆ ตัวเราเติบโตไปพร้อมกัน อาจทำให้เราโตช้าหน่อย แต่จะเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ ตามแนวทางสัมมาชีพ” 

วิธีคิดในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว สะท้อนเป็นรูปธรรมกับการเปิดพื้นที่บริเวณสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่น ที่อำเภอด่านขุนทด ให้ชุมชนนำผลผลิตทางการเกษตรและแปรรูป รวมถึงสินค้าวิสาหกิจชุมชนมาวางจำหน่าย 

เรียกว่าแปลงสถานีบริการน้ำมันเป็นจุดเชื่อมโยงการค้า (Connecting  Point) โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง แม้การดำเนินการจะมีปัญหามากระทบบ้าง ทว่าปัญหามีไว้ให้แก้ไข

“ปัญหาที่พบคือ เกษตรกรบางรายเก่งเรื่องการผลิต แต่ไม่เก่งเรื่องการขาย หรือถ้าให้ตัวเกษตรกรมาขายเองก็จะไม่มีเวลาไปดูแลผลผลิตรดน้ำ ใส่ปุ๋ย อีกทั้งสินค้าเกษตรมีอายุสั้น ถ้าขายไม่หมดจะเน่าเสีย หรือการนำสินค้าชุมชนมาขาย จะทำอย่างไรให้สามารถผลิตได้จำนวนมากและทันเวลา หากมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก เป็นต้น” 

“สิริอร” ยังบอกด้วยว่า การได้มาอบรมหลักสูตร LFC ทำให้เธอมองมิติปัญหาของเกษตรกร ปัญหาของวิสาหกิจชุมชนหลากหลายมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งหลักสูตรนี้ออกแบบให้ผู้เรียนมาจากหลายหลายสาขาอาชีพ ทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ภาครัฐ ภาคเอกชน    

 "การมาเรียนหลักสูตรนี้ ทำให้เราได้มองอะไรในหลายมิติมากกว่าเดิม รู้กระบวนการ เข้าใจกลไกในรายละเอียดมากกว่าการมองในมุมธุรกิจอย่างเดียว เช่น ทำไมเกษตรกรถึงมีปัญหาผลผลิตไม่ต่อเนื่อง ผลผลิตไม่ออกมา บางปีผลผลิตล้นตลาด ทำให้การจำหน่ายไม่สม่ำเสมอหรือถูกกดราคารับซื้อ ซึ่งถ้ามองในมิติของสภาพอากาศ โรค แมลง ก็จะทำให้เข้าใจสถานการณ์การเพาะปลูกที่ส่งผลกระทบต่อการขายสินค้าเกษตรได้มากขึ้น เป็นต้น”

การดำเนินธุรกิจตามแนวทางสัมมาชีพสำหรับเธอแล้ว คือ การเดินทางสายกลาง ทำแล้วมีความสุข  ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ขณะที่ “กำไรสูงสุด” ไม่ใช่ปลายทาง 

ไม่ใช่ไม่หวังกำไรเลย แต่ต้อง “ถูกที่ ถูกทาง” 

“การทำธุรกิจอย่างมีสัมมาชีพ มีความสมดุล เดินทางสายกลาง คือแนวทางที่ถูกต้อง ถ้าเราทำธุรกิจเพื่อผลกำไรสูงสุดอย่างเดียว แน่นอนเราต้องทำงานหนัก ทำให้ใช้ชีวิตได้น้อยลง ไม่มีเวลาให้กับตัวเองให้กับครอบครัว มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งเมื่อมีปัญหาสุขภาพก็จะไม่มีแรงทำงาน 

ต่างกับการสร้างสมดุลการทำงานกับการใช้ชีวิต งานไม่เสีย ชีวิตลงตัว สุขภาพดี มีแรงไปช่วยเหลือคนอื่น เป็นการตอบโจทย์ที่ดีที่สุดแล้ว”

นอกจากการช่วยเหลือชุมชน ดูแลสมดุลชีวิตตัวเองแล้ว ในมุมของการไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม “สิริอร” เล่าว่า สถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่นที่อำเภอด่านขุนทดแห่งนี้ ยังมีการบริหารจัดการขยะ คัดแยกขยะรีไซเคิล  เพื่อนำไปจำหน่าย โดยนำเงินที่ได้ สะสมเป็นกองทุนสีเขียว ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้พนักงาน เพื่อลดการกู้ยืมเงินนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยสูง 

“ก่อนหน้านี้เราสังเกต ทำไมพนักงานต้องไปยืนต่อแถวตอนเย็นหลังเลิกงาน และมีมอเตอร์ไซค์มาคันนึง ต่อมาจึงรู้ว่าต่อแถวเพื่อกู้เงินนอกระบบ 

บางวันพนักงานก็ไม่มาทำงานเพราะกลัวถูกทวงเงิน กระทบกับการทำงาน แต่พอเรามีกองทุนสีเขียว พนักงานก็มากู้เงินได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องผ่านเกณฑ์ เช่น มีวินัยการทำงาน ไม่มาทำงานสาย 

ดังนั้น แทนที่พนักงานจะเสียดอกเบี้ยแพงก็มากู้กับกองทุนฯ ด้วยดอกเบี้ยต่ำ เช่น กู้ไปจ่ายค่าเทอมลูก ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ดอกผลก็นำมาสะสมเป็นเงินของกองทุนฯต่อไป” 

สถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่น ที่อำเภอด่านขุนทด ยังให้พื้นที่ทำ “เฮลท์ สเตชั่น” เพื่อให้ประชาชนและพนักงานได้มาใช้บริการสุขภาพพื้นฐาน เช่น ตรวจวัดความดัน มวลกล้ามเนื้อ เพื่อตรวจสุขภาพว่าอยู่ในเกณฑ์ใด เป็นการป้องกันก่อนการรักษา เพื่อให้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ สร้างสมดุล การงาน กับ การใช้ชีวิต อย่างที่กล่าวแล้ว 

“สิริอร” ยังนิยามถึงหลักสูตร ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงว่า ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง เป็นเหมือน Change Agent เปลี่ยนคนเดียวไม่ได้ ผู้นำต้องสร้างให้คนอื่นเปลี่ยนด้วย 

“เราเปลี่ยนคนเดียวก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่สร้างผลกระทบ แต่ถ้าเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแล้ว สร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับคนรอบๆ ตัวเรา หรือคนที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน” 

เหมือนเช่นเธอผู้นี้ที่เป็นอีกหนึ่งผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลงให้ขยายวงกว้าง จากสถานีบริการน้ำมันสู่ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ 

 

อ่านรายละเอียดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 ได้ที่ http://rb.gy/zfcwkn  


image รูปภาพ
image

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar