ฝุ่นภาคเหนือยังวิกฤติ! ฝนหลวงฯ ส่งเครื่องบินติดตั้งอุปกรณ์พ่นละอองน้ำช่วยลดอุณหภูมิให้ชั้นบรรยากาศเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งช่วยให้ฝุ่นละอองลอยตัวขึ้น เป็นการระบายและลดความหนาแน่นของปัญหาหมอกควันลงได้

ฝุ่นภาคเหนือยังวิกฤติ! ฝนหลวงฯ ส่งเครื่องบินติดตั้งอุปกรณ์พ่นละอองน้ำช่วยลดอุณหภูมิให้ชั้นบรรยากาศเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งช่วยให้ฝุ่นละอองลอยตัวขึ้น เป็นการระบายและลดความหนาแน่นของปัญหาหมอกควันลงได้

เมื่อ วันที่ 11 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมหารือการใช้อากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรพ่นละอองน้ำเพื่อระบายและลดความหนาแน่นของหมอกควัน โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่พร้อมเปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้บริเวณพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยได้ประสบปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารสัตว์ และการเพิ่มขึ้นของยานพาหนะที่ใช้ในการคมนาคมขนส่ง โดยส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น แต่ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในป่าและการเผาไหม้ชีวมวลจากในประเทศและประเทศข้างเคียง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและหุบเขา จะพบจุดความร้อนและประสบกับปัญหาหมอกควันไฟป่ามากที่สุด ซึ่งมลพิษทางอากาศหรือฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากสาเหตุดังกล่าวนั้นโดยทั่วไปจะเกิดในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนที่มีความแห้งแล้งของทุกปีและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปัญหาฝุ่นละอองมีความรุนแรงมากขึ้น คือ ชั้นบรรยากาศมีอุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion Layer) ส่งผลให้ฝุ่นละอองไม่สามารถเคลื่อนตัวจากผิวพื้นขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือขึ้นไปได้

นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาดังกล่าวหลายหน่วยงานในประเทศไทยได้ศึกษาและหาแนวทางการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การปล่อยละอองน้ำจากยอดตึกสูง การใช้สารเคมีเพื่อลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ การพ่นละอองน้ำจากพื้นดินขึ้นไปในอากาศ และการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งในหน่วยงานที่เห็นถึงความสำคัญของการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีแนวคิดทดสอบและวิจัยการประยุกต์ใช้อากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรสำหรับพ่นละอองน้ำแรงดันสูงเพื่อควบคุมและบรรเทาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ระดับความสูง 5,000-6,000 ฟุต หรือประมาณ 2,500-2,700 เมตร โดยเป็นการปรับปรุงอุปกรณ์ท่อโปรย (Air scoop) ติดตั้งบนอากาศยานชนิด CASA และ CN-235 พร้อมติดตั้งเครื่องพ่นสเปรย์ฉีดน้ำแรงดันสูง (Air Pump, Water Pump, Pressure Line & Nozzle) รับการป้อนน้ำจากเครื่องยนต์ดีเซลพร้อมปั๊มแรงดันสูง มีถังบรรจุน้ำ INTERMEDIATE BULK CONTAINER หรือ IBC ที่มีคุณสมบัติด้าน น้ำหนักเบา จำนวน 3 ถัง ขนาด 500 ลิตร จำนวน 2 ถัง และขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 1 ถัง พร้อมโครงเหล็ก ติดตั้งไว้ตรงกลางลำตัวเครื่องบินด้วยอุปกรณ์ Load Control Safety Equipment เพื่อให้ถังน้ำไม่เกิดการเคลื่อนไหวเมื่ออากาศยานทำการไต่ระดับไปที่เพดานการบิน หรืออยู่ภายใต้สภาวะการบินที่แปรปรวน เช่น สภาพอากาศไม่คงที่ สั่นสะเทือน การเร่งความเร็ว หรือการลงจอดฉุกเฉิน โดยยึดตึงด้วยอุปกรณ์มาตรฐานอากาศยาน Tiedown Fitting เพื่อความปลอดภัย

สำหรับขั้นตอนการทำงานการพ่นละอองน้ำ จะนำถังน้ำ จำนวน 3 ถัง บรรจุน้ำปริมาตรรวม 2,000 ลิตรต่อถึงกัน โดยจะต่อท่อน้ำออกจากถังบรรจุน้ำขนาด 1,000 ลิตร เพื่อป้อนให้กับปั๊มแรงดันสูง น้ำจะถูกเพิ่มแรงดันและส่งผ่านท่อไปยังหัวฉีด 12 หัว ที่ถูกติดตั้งไว้ที่ท่อโปรยใต้เครื่องบิน โดยมีอัตราการไหลของน้ำ 40 ลิตรต่อนาที ซึ่งจากการทดสอบที่ผ่านมา พบว่า การกระจายตัวของละอองน้ำที่ภาคพื้น หัวฉีดสามารถทำระยะการพ่นไกลได้สูงสุดถึง 10 เมตร และครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางเมตร ที่ระดับการบินความสูง 5,000-6,000 ฟุต และจะดำเนินการปล่อยละอองน้ำเป็นระยะเวลา 50 นาทีต่อรอบการปฏิบัติภารกิจ โดยคาดว่าละลองน้ำที่พ่นออกมาจากตัวอากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะช่วยบรรเทาและระบายความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ให้เบาบางลงทั้งนี้ การประยุกต์ใช้อากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำหรับปฏิบัติภารกิจพ่นละอองน้ำ เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อให้การช่วยเหลือเกิดประสิทธิภาพต่อพี่น้องประชาชนสูงสุด นายสุพิศ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar