ศอ.บต. พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วน แก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ หลังจากในพื้นที่ จชต. ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยอย่างหนัก ในห้วงที่ผ่านมา

จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้นมา ทำให้มีพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก 

 

            โดยวันนี้ (12 มกราคม 2564) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในครั้งนี้ว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยได้พระราชทานถุงยังชีพพระราชทานผ่าน ศอ.บต. ให้แจกจ่ายไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมีการดำเนินการพระราชทานถุงมาแล้ว 4 รอบ รวมทั้งหมด 7,100 ถุง มอบให้แก่ประชาชนจำนวน 7,000 ถุง และพระภิกษุสงฆ์จำนวน 100 ถุง ในการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยได้รับความสะดวกจากทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ประชาชนในพื้นที่ต่างรู้สึกตื้นตันในพระมหากรุณาธิคุณที่ทุกภาคส่วนไม่เคยมีใครทอดทิ้งให้ประชาชนโดดเดี่ยว

 

            เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวต่ออีก การแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ในระยะยาวหรือระยะยั่งยืน ทาง ศอ.บต. ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถานบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยการวางระบบการจัดการน้ำ อีกทั้งรัฐบาล  นำโดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และขอให้แก้ไขปัญหาระบบจัดการน้ำให้ครบวงจร โดยมีการสำรวจสถานการณ์น้ำในลำน้ำทุกแห่งตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้หน้าแล้งได้มีน้ำเก็บไว้ใช้ในการเกษตร หรือพื้นที่ไหนที่ต้องการจะสร้างฝ่ายกั้นน้ำชะลอน้ำ  อ่างเก็บน้ำ หรือแก้มลิง เพื่อให้มีการชะลอน้ำเอาไว้ใช้ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาสภาพภัยแล้งจากสภาวะน้ำท่วมให้มีน้ำขังน้อยที่สุด และมีน้ำไว้ใช้ในด้านการเกษตรที่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้มีการเดินหน้าเป็นลำดับ โดย ศอ.บต. ได้จัดตั้งเป็นศูนย์สารสนเทศบริหารจัดการน้ำจังหวัดชาแดนภาคใต้ เพื่อร่วมมือกับทุกภาคส่วนทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังดำเนินการวางแผนอย่างสุดความสามารถ ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอต่อการเกษตร บริโภคอุปโภคและทำให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 

 

            ทั้งนี้  พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดแนวเขาสันกาลาคีรี ทำให้แนวน้ำไหลมาทางลำน้ำสายหลักในพื้นที่ของจังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานีคือแม่น้ำปัตตานี เป็นพื้นที่ที่มีการรับน้ำจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งมีเขื่อนบางลางเป็นที่รับน้ำหลักและที่ผ่านมาเขื่อนบางลางได้รับน้ำอย่างเป็นจำนวนมาก     ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องปล่อยน้ำในเขื่อนออกให้ไหลเข้ามาในพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่  ซึ่งขณะนี้น้ำได้มีการเคลื่อนตัวไปที่จังหวัดปัตตานีและใช้เวลาในการคลี่คลายอีกประมาณ 3-4 วัน ซึ่งทุกภาคส่วนได้มีการระดม ความช่วยเหลือเพื่อให้น้ำได้ระบายออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด

ที่มา  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210113084011715


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar