ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เปิดตัว สินเชื่อ สู้ภัย COVID–19 เปิดให้กู้ 10,000 บาทราย ไม่ต้องมีหลักประกัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดตัว สินเชื่อสู้ภัย COVID–19 สำหรับผู้มีรายได้ประจำ อาชีพอิสระ เกษตรกรรายย่อย หรือลูกจ้างภาคการเกษตร โดยอนุมัติวงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวงเงินธนาคารละ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินในเบื้องต้นให้กับประชาชนได้กว่า 2 ล้านคน ทั้งเพิ่มสภาพคล่องในการประกอบกิจการ หรือที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน บรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้จากมาตรควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระหว่างที่รัฐบาลเร่งบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด 

โดยธนาคารออมสิน เปิดให้ "สินเชื่อสู้ภัย COVID-19" แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้มีรายได้ประจำ (ไม่รวมผู้มีรายได้ประจำจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ) ในขณะที่ ธ.ก.ส. เปิดให้กู้แก่เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร ซึ่งผู้ที่จะกู้จากทั้ง 2 ธนาคารนี้ จะต้องมีสัญชาติไทย และอายุ 20 ปีขึ้นไป โดยสินเชื่อในโครงการ “สินเชื่อ สู้ภัย COVID–19” เป็นสินเชื่อที่ไม่ต้องมีหลักประกัน (Clean Loan) สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้นกำหนดไว้คงที่ (Flat Rate) ที่ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก ระยะเวลาการขอกู้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึง 31 ธันวาคม 2564

สำหรับธนาคารออมสิน ในระยะแรกของโครงการเพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงเริ่มให้บริการแก่ลูกค้าธนาคาร ที่เปิดใช้แอปพลิเคชัน MyMo อยู่แล้วก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 9 ล้านคน โดยเริ่มจากลูกค้าที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ และเชียงใหม่ สามารถยื่นกู้ได้ทางแอปพลิเคชัน MyMo ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หลังจากนั้นในระยะต่อไปจึงจะขยายให้บริการลูกค้าในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ตามด้วยลูกค้ากลุ่มอื่นที่ไม่มีแอพพลิเคชัน MyMo

ขณะที่ ธ.ก.ส. เปิดให้ร่วมโครงการผ่าน LINE Official โดยดูรายละเอียดได้ที่  www.baac.or.th หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ทั้งนี้ รัฐบาล ยังมีมาตรการด้านการเงินสำหรับประชาชนและภาคธุรกิจกลุ่มต่างๆ อาทิ พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งรัฐบาล จะเร่งพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชน และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างเหมาะสมที่สุด 

ที่มา  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210514112729701


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar