​รองนายกฯ อนุทิน ย้ำรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข เร่งดูแลผู้ป่วยเอดส์ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพต่อเนื่องและครอบคลุม สปสช.เตรียมบรรจุชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีในสิทธิบัตรทอง

วันที่ 16 มีนาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เน้นย้ำถึงนโยบายการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ที่ทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งขับเคลื่อนการดูแลผ่านระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การให้ความรู้เพื่อป้องกัน การคัดกรองที่ทั่วถึง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อรู้ตัวและเข้าสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็ว

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ระหว่างเตรียมบรรจุบริการชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ให้อยู่ในระบบบัตรทองด้วย ซึ่งการกำหนดเรื่องนี้ได้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ (คช.ปอ.) แล้ว สปสช. อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์ต่างๆ ขณะที่กรมควบคุมโรคเตรียมกำหนดวันเริ่มให้บริการ หน่วยบริการที่ประชาชนสามารถรับชุดตรวจและจะประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การบูรณาการเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เป็นแนวทางที่ได้รับการชื่นชมจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยในเดือน ธ.ค. 65 ที่ผ่านมาโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAIDS ได้ชื่นชมไทยในการเป็นผู้นำระดับโลกด้านการรับมือโรคเอดส์ โดย UNAIDS ชื่นชมว่าไทยมีความก้าวหน้าในการป้องกัน ตรวจรักษาและช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้รับการรับรองว่าขจัดการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2559 และนับแต่ปี 2553 เป็นต้นมาประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ลดลงเกือบ2ใน 3 ของอดีต ซึ่งกลไกที่นำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าวคือการบูรณาการการดูแล คัดกรอง รักษาผู้ป่วยที่ครอบคลุมผ่านระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากชุดตรวจเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองแล้ว สปสช. ยังอยู่ระหว่างเตรียมบรรจุการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี  ให้อยู่ในสิทธิบัตรทองด้วย โดยจะให้ประชาชนทั่วไปที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 สามารถตรวจ 1 ครั้ง ตลอดช่วงชีวิต และส่วนกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม (ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ผู้ต้องขัง บุคลากรสาธารณสุข และชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย) ตรวจคัดกรองได้ ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งการคัดกรองที่ทั่วถึงจะทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษารวดเร็ว ลดการป่วยรุนแรงเช่น ตับแข็ง มะเร็งตับ ซึ่งโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ที่มียารักษาให้หายขาดได้และประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถรับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ที่มา : 

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar