กรมอนามัย ไม่นิ่งนอนใจ ลงพื้นที่กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ย้ำ ร้านอาหารใส่กัญชา ต้องติดป้าย แสดงสัญลักษณ์ - แสดงข้อความเตือนให้ชัดเจน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ย่านตลิ่งชันร่วมกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ย้ำเตือนร้านอาหาร ที่มีการทำ ปรุง หรือประกอบอาหาร และจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาในอาหารสำเร็จรูปในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ต้องติดป้ายสัญลักษณ์หรือแสดงข้อความเตือนให้ชัดเจน รวมทั้ง ต้องขอรับใบอนุญาต หรือขอรับหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

         นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้บริโภคแพ้กัญชาในอาหาร และขนมนั้น กรมอนามัยไม่ได้นิ่งนอนใจ ลงพื้นที่ย่านตลิ่งชันร่วมกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยย้ำเตือนร้านอาหารที่มีการทำ ปรุง หรือประกอบอาหาร และจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาในอาหารปรุงสำเร็จ ต้องติดป้ายสัญลักษณ์หรือแสดงข้อความเตือนให้ชัดเจน และแสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       วันที่ 25 สิงหาคม 2565 กำหนดให้สถานที่จำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ที่มีการนำกัญชา หรือกัญชง มาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ต้องแสดงข้อความหรือป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ แสดงรายการอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จทั้งหมด แสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มีกัญชา หรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ โดยแสดงข้อความ 1) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน 2) ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรงให้ปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว 3) ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชง ควรงดเว้นรับประทาน  4) รับประทานแล้วเกิดอาการง่วง ซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ฉบับนี้ ถือเป็นการฝ่าฝืนฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ด้วย เนื่องจากประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ ออกตามความในข้อ 11 (2) ฝ่าฝืนกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 มีโทษตามมาตรา 68 ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเน้นย้ำให้้ราชการส่วนท้องถิ่น ตรวจตรา เฝ้าระวัง ให้คำแนะนำ และกำกับดูแลให้ร้านอาหารปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

        นายแพทย์อรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกทั้ง ร้านอาหารต้องขอรับใบอนุญาต หรือขอรับหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มาตรา 38 กำหนดให้ผู้ใดจะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใดซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร และไม่ใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หากสถานที่ดังกล่าวมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อขอรับหนังสือรับรองการแจ้งก่อนการจัดตั้ง หากพบว่ามีการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หรือไม่ได้รับหนังสือรับรองการแจ้งมีโทษตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ใดจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือผู้ใดจัดตั้ง สถานที่จำหน่ายอาหารซึ่งมีพื้นที่ไม่เกิน200 ตารางเมตร โดยไม่มีหนังสือรับรองการแจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท

         “ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นในครั้งนี้ พบว่ามีร้านอาหารหลายร้านได้มีการยกเลิกเมนูที่มีส่วนผสมของกัญชา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยหลังจากนี้จะได้เร่งให้มีการอบรมผู้ประกอบกิจการ และผู้สัมผัสอาหาร เรื่อง การใช้กัญชา หรือกัญชง ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการงตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกค้า หรือ ประชาชนผู้บริโภค เพราะหากไม่จัดทำป้ายสัญลักษณ์ หรือมีข้อความเตือน อาจเป็นอันตรายกับผู้ที่มีอาการแพ้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ข้อมูล 

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar