คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง พร้อมคงเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้(64)ไว้ที่ร้อยละ 1.5-3.5

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. มองภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้น หลังจากกลับมาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ได้อีกครั้ง จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันลดลงตามลำดับ และการเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ 

        นอกจากนี้ การส่งออกของไทยที่ไม่รวมทองคำปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในหลายสินค้า สะท้อนอุปสงค์ในตลาดโลกที่เติบโต โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยยังต้องติดตามความคืบหน้าในการส่งมอบวัคซีนและประเด็น vaccine passport ซึ่งจะปลดล็อกเรื่องของการเดินทางระหว่างประเทศต่อไป 

        ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. จึงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้(64) จะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 1.5 - 3.5 ประมาณการการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 5.0 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบร้อยละ 0.8 - 1.0

        นอกจากนี้ กกร.เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง” เพื่อประคองและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ตามข้อเสนอที่สมาคมธนาคารไทยได้ประสานการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด คาดว่าจะได้ข้อสรุปและมีผลบังคับใช้ภายใน 2 เดือนนี้(64) ประกอบด้วยการ ปรับปรุง จะดำเนินการผ่าน โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเป็นโครงการภาคสมัครใจที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 แต่ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวอยู่รอดได้ ให้สามารถลดภาระทางการเงินได้ชั่วคราว ด้วยการโอนทรัพย์ไว้กับธนาคารโดยมีสัญญาซื้อคืน เพื่อรอการฟื้นตัวของธุรกิจโดยไม่สูญเสียกิจการไป 

        ด้านการฟื้นฟูสำหรับธุรกิจที่ฟื้นตัว และมีความต้องการวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมนั้น เป็นการเพิ่มวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการเสริมสภาพคล่อง เพื่อรองรับการกลับมาดำเนินธุรกิจแบบปกติ โดยเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึง และการเปลี่ยนแปลง จะใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoicing) บนแพลตฟอร์ม โดยให้มีมาตรฐานกลางทั้งในเรื่องรูปแบบของใบกำกับภาษี ระยะเวลาที่เหมาะสมของระยะเวลาการให้สินเชื่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งจะรวมถึงการร้องเรียนและการคืนสินทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงิน เพื่อการค้าที่โปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกราย และจะทำให้ระบบเครดิตทางการค้าเชื่อมโยงอย่างเต็มประสิทธิภาพสามารถแข่งขันได้

ที่มา  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210303142823904


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar