ศธ. จับมือ สคช. ยกระดับมาตรฐานเกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรมืออาชีพ พร้อมพัฒนาอาชีพ “ชลกร” ให้มีมาตรฐานระดับสากล

ศธ. จับมือ สคช. ยกระดับมาตรฐานเกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรมืออาชีพ พร้อมพัฒนาอาชีพ “ชลกร” ให้มีมาตรฐานระดับสากล

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ในการส่งเสริมวิถีเกษตรก้าวไกลสำหรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต

เมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยามนุษย์ เป็นประธานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร (สอก.) 4 ภาค ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรทั้ง 4 ภาค เข้าร่วม

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ในการส่งเสริมวิถีเกษตรก้าวไกลสำหรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้มีความพร้อม โดยได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่จะสามารถช่วยต่อยอดอาชีพได้ในอนาคต อีกทั้งเป็นแนวทางการต่อยอดความร่วมมือในการจัดทำมาตรฐานอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต เพื่อรองรับกำลังคนมาพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

โดยกระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางที่จะยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านการเกษตรให้เป็นมืออาชีพ ตามนโยบายของ รมช.ศึกษาธิการ ที่ต้องการยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการเตรียมผลักดันและพัฒนาอาชีพ “ ชลกร” ให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยใช้เกณฑ์การประเมินสมรรถนะของบุคลากรตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ภายใต้เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีอาชีพ มีรายได้ ช่วยแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่ต้องการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ของหน่วยงานทั้ง 5 ฝ่าย ประกอบด้วย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.), สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง, สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ, สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ มีหัวใจสำคัญ คือ การร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานอาชีพของบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ที่เข้ามาศึกษาและฝึกอบรม พร้อมผลักดันให้มีการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ รวมไปถึงการผลักดันให้มีการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น Upskill และ Reskill จากเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการเกษตรตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาขีดความสามารถในการเป็นเกษตรกรมืออาชีพต่อไป

ที่มา  https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39337


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar