ชีวิตที่ดี เริ่มที่การรู้จักควบคุมตนเอง

ชีวิตที่ดี เริ่มที่การรู้จักควบคุมตนเอง

ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ (11 เมษายน 2564) บ้านเราเกิดการระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ที่มีความรุนแรงมากกว่าระลอกก่อนๆ ระลอกนี้เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 117 อันเป็นเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งเกิดขึ้นที่อังกฤษก่อน แล้วแพร่ไปยังประเทศต่างๆ เชื้อชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่าย เร็ว และทำให้มีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม

การระบาดเริ่มจากกลุ่มคน (หลากหลายอาชีพ และทุกวัย) ที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงที่ใจกลางพระนคร แล้วกระจายไปยังสถานบันเทิงตามหัวเมืองเกือบทั้งประเทศ และแพร่ไปในชุมชนภายในเวลาอันรวดเร็ว

การระบากครั้งก่อนๆ ก็เกิดจากการเข้าไปในที่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แหล่งอบายมุข” ได้แก่ สนามมวย บ่อนการพนัน รวมทั้งสถานบันเทิงเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ง่าย เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท อยู่กันอย่างแออัด มีการสัมผัสใกล้ชิด และมีการพูดคุยหรือส่งเสียงร้องตะโกนโดยที่ส่วนใหญ่ของผู้คนเหล่านี้พากัน “การ์ดตก” ไม่สาใจสวมหน้ากากและปฏิบัติตามหลักการป้องกันโรค

การระบาดของโรคโควิดอย่างต่อเนื่องหลายระลอกในไทยและทั่วโลกในรอบปีกว่าๆ มานี้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้ชีวิตที่ประมาท รักสนุก ปล่อยตามใจอยาก เห็นแก่ตัว ขาดวินัยและไม่รับผิดชอบ (ทั้งต่อตัวเองและสังคม) กล้าฝ่าฝืนกฎทางสังคมและกฎหมายการดูแลสุขภาพนั้น เป็นต้นเหตุสำคัญของการระบาดของโรค

จากวิกฤตโรคระบาด เราก็สามารถคิดต่อไปได้ว่าในทำนองเดียวกัน วิกฤตการณ์ทางสังคมอื่นๆ ก็มีต้นตอมาจากพลเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างประมาทในลักษณะดังกล่าวนั่นเอง

ในการพัฒนาสังคม การป้องกันและแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสังคม จำเป็นต้องสร้างพลเมืองที่มีความตื่นรู้ และรู้จักชีชีวิตที่ไม่ประมาท

ที่สำคัญคือ มีทักษะในการเอาชนะใจตนเองดังคำสอนที่ว่า “ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการชนะใจตนเอง”

นอกจาก “การเอาชนะใจตนเอง (self-victory) แล้วยังมีคำสอนอีก 2 คำ ได้แก่ “การเป็นนายตัวเอง (self-mastery)” และ “การควบคุมตนเอง (self-control)”

ผมเห็นว่าทั้ง 3 คำนี้ มีความหมายคล้ายกัน ซึ่งในที่นี้ขอใช้คำกลางๆ ว่า “การควบคุมตนเอง” แทน

จากความรู้เรื่องกลไกสมอง 3 ส่วน ด้วยสมองส่วนหลัง (“สมองตะกวด” ซึ่งทำหน้าที่ด้านสัญชาตญาณการเอาตัวรอด) และสมองส่วนกลาง (“สมองสุนัข” ซึ่งทำหน้าที่ด้านอารมณ์) ทำงานไวกว่าสมองส่วนหน้า (“สมองมนุษย์” ซึ่งทำหน้าที่ด้านสติปัญญา ความมีเหตุมีผล การรู้ตนและการควบคุมตนเอง)

คนส่วนใหญ่จึงถูกครอบงำด้วยความคิดเอาตัวรอดและอารมณ์มากกว่าเหตุผล เป็นไปในลักษณะที่ว่า “รู้ว่าดี ไม่ทำ แต่รู้ว่าไม่ดีกลับทำ”

คนเราจึงมักใช้ชีวิตที่ตามใจตัวเองและประมาทเป็นส่วนใหญ่ ดังกรณี โควิด ทั้งที่รู้ว่าอันตราย ก็ยังไม่กลัวและใช้ชีวิตตามใจอยาก

ดังนั้น ทักษะชีวิตที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง ซึ่งช่วยให้เราสามารถลิขิตชีวิตของตัวเองให้เจริญงอกงาม ก็คือ การควบคาตนเอง (การเอาชนะใจตนเอง หรือการเป็นนายตัวเอง) ซึ่งเป็นหน้าที่ของสมองส่วนหน้า

ทักษะดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เมื่อใส่ใจพัฒนาสมองส่วนหน้า ด้วยการบริหารร่างกาย (ออกกำลังกาย บริโภคอาหารสุขภาพ นอนหลับให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการบริโภคสุรา ยาสูบ สารเสพติด และอบายมุขทั้งปวง) จิตใจ-อารมณ์ (ฝึกสมาธิ เจริญสติ ฝึกมองตน รู้ตน คิดบวก ควบคุมอารมณ์ คิดดี พูดดี ทำดี บำเพ็ญประโยชน์) และปัญญา (หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และฝึกลับสมอง) เป็นประจำ ทำให้สมองส่วนหน้าเติบโตแข็งแรง จนไวทันและควบคุมกำกับสมองส่วนหลังและส่วนกลางให้ทำหน้าที่ที่เป็นคุณต่อชีวิตเรา

ผู้ที่ใสใจฝึกฝนพัฒนาตนเป็นประจำ ย่อมมีทักษาชีวิตหลายประการ ที่สำคัญ คือ การควบคุมตนเอง

ผู้ที่รู้จักควบคุมตนเองได้จนเป็นนิสัย ย่อมมีพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่พึงประสงค์มากมายหลายประการ อาทิ

? การมีวินัย เห็นคุณค่าและปฏิบัติตามกฎระเบียบสังคม

? การรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม

? การยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์

? การรู้จักอดทน อดกลั้น

? การฟังคนเป็น รู้จักฟังด้วยสติ ไม่ด่วนตัดสิน ไม่ด่วนตอบโต้

? การรู้ว่าอะไรดีทำทันที ไม่ผัดผ่อน รู้ว่าอะไรไม่ดีก็ไม่ทำ เช่น การบริหารร่างกาย จิต อารมณ์ และปัญญา การไม่ฝ่าฝืนกฎของการดูแลรักษาสุขภาพและการป้องกันโรค การไม่เข้าไปใน “ที่อโคจร”

? การมีความเพียรพยายาม เอาชนะอุปสรรค ยืนหยัดทำงานให้สำเร็จ กล้าสู่สิ่งยาก

? การรู้ตน รู้จักเรียนรู้และพัฒนาตนตลอดเวลา

? การปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า บริโภคอาหารตามใจปาก

ผู้ที่รู้จักควบคุมตนเอง ย่อมมีชีวิตที่ตื่นรู้ ไม่ประมาท มีสุขภาวะทั้งทางกาย – จิต – สังคม – ปัญญา และมีชีวิตที่อยู่เย็น เป็นประโยชน์ 

ที่มา กรมสุขภาพจิต


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar