ชุมชนร่วมใจพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับชีวิตหลังเกษียณ

ชุมชนร่วมใจพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับชีวิตหลังเกษียณ

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ประชากรของประเทศมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมีมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด นั่นทำให้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป สังคม ชุมชน และประชาชนคนไทยทุกคน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง จำนวนประชากรวัยชรามีสัดส่วนที่มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งต่าง ๆ เป็นวงกว้างอย่างแน่นอน 

แต่ถ้าทุกคนเรียนรู้ที่จะเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะพัฒนาสู่สังคมผู้สูงอายุในทุกมิติ ทุกคนก็จะสามารถดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข เริ่มต้นที่ตัวเอง ครอบครัว และก้าวสู่การเตรียมพร้อมในระดับชุมชน สร้างสภาพแวดล้อมที่จะนำพามาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกในชุมชน ที่ไม่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รวมถึงคนทุกเพศทุกวัยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และอิ่มเอมไปด้วยมวลความสุข

6 สภาพแวดล้อมในชุมชนที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุวัยเกษียณ

    1. มีพื้นที่สันทนาการที่เหมาะสม
    สุขภาพกายที่ดีย่อมต้องมีปัจจัยสำคัญที่มาจากสุขภาพใจที่ดีด้วย ซึ่งกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุนั้น เรียกได้ว่าเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้ท่านรู้สึกว่าตนเองยังคงมีคุณค่า แถมยังได้สร้างความสุข สนุกสนาน และเบิกบาน มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเกิดขึ้นให้ได้เห็นอยู่เสมอ พื้นที่ควรจัดให้เป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด ร่มรื่น เหมาะสำหรับรองรับกิจกรรมสันทนาการรูปแบบต่าง ๆ ที่สำคัญควรสร้างพื้นที่ที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างครอบคลุม

     2. จัดตั้งกลุ่มกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ
    เมื่อมีพื้นที่แล้ว ก็จำเป็นต้องสร้างสรรค์กิจกรรมมารองรับอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการจัดกลุ่มกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ตามความถนัดของสมาชิกผู้สูงวัยของชุมชน จะช่วยให้ชุมชนสามารถดำเนินกิจกรรมตามแผนที่ตั้งไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ กลุ่มดนตรี กลุ่มนาฏศิลป์ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับขนมธรรมเนียมประเพณี หรือการสร้างอาชีพให้กับผู้สูงวัย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในชุมชน ต่อยอดไปยังการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน

    3. ปรับปรุงพื้นที่ให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตได้สะดวก
    ปรับปรุงพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชนให้มีจุดเชื่อมต่อที่ทั่วถึง รวมถึงอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินตามจุดต่าง ๆ อย่างเหมาะสม อาทิ หลังคากันฝนกันแดด ราวจับบริเวณทางเดิน รวมไปถึงใช้ทางลาดในบางจุดแทนบันได เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุที่ต้องนั่งรถเข็น สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม 

    4. ปรับภูมิทัศน์ชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว
    สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวภายในชุมชน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดูแลและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งในแต่ละชุมชน ควรออกแบบให้มีสวนสาธารณะขนาดย่อมกระจายอยู่ตามจุดให้บริการต่าง ๆ ที่ไม่ไกลจากที่พักอาศัยผู้สูงอายุมากนัก เพื่อสะดวกต่อการเดินทางมาใช้พื้นที่ ซึ่งพื้นที่สีเขียวนี้นอกจากจะใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังสามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว หรือทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกันเอง และไม่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น สมาชิกในชุมชนทุกช่วงวัยยังสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ได้อีกด้วย ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่อยู่ดีมีความสุขให้กับชุมชน

    5. ออกแบบที่จอดรถรองรับสังคมผู้สูงอายุ
    แน่นอนผู้สูงอายุที่วัยเกิน 60 ปี มากกว่าครึ่งยังคงใช้ชีวิตแบบหนุ่มสาววัยทำงาน โดยไม่คำนึงถึงอายุที่ล่วงเลยผ่านพ้นวัยเกษียณมาแล้ว จึงควรออกแบบและสร้างที่จอดรถให้กับผู้สูงอายุในทุกลานจอดรถสาธารณะภายในชุมชน ซึ่งช่องจอดรถควรออกแบบให้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร และต้องมีที่ว่างด้านข้างที่เรียบเสมอกันตลอดความยาวของช่องจอดรถไม่น้อยกว่า 1 เมตร สำหรับกรณีผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ที่สำคัญที่จอดรถต้องไม่อยู่ในระนาบเดียวกันถนนที่มีรถสัญจรไปมา เพื่อให้สามารถใช้ที่จอดรถได้อย่างปลอดภัย พร้อมรับในทุกสถานการณ์

    6. ป้ายต่าง ๆ หากมีต้องติดตั้งให้เหมาะสม
    ป้ายสำหรับผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นป้ายสัญลักษณ์ หรือป้ายโฆษณา ควรออกแบบให้มีขนาดที่ใหญ่และเห็นได้ชัดเจน สามารถหยุดอ่านได้อย่างปลอดภัย อาทิ บริเวณกำแพง เสาที่แข็งแรงได้มาตรฐาน โดยไม่ควรติดตั้งสูงเกิน 2 เมตรจากระดับพื้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นสามารถมองเห็นได้ชัดเจน

    และนี่คือ 6 สภาพแวดล้อมที่ชุมชนและสมาชิกทุกคนในชุมชนต้องเริ่มตื่นตัวและหันมาเตรียมพร้อมเสียแต่วันนี้ เพราะสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของสังคมผู้สูงอายุนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องออกมาร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งเพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก และเพื่อตัวคุณเองในอนาคตในวันที่ก้าวเข้าสู่วัยหลังเกษียณ สภาพแวดล้อมที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจลงมือสร้าง จะตอบแทนกลับมามอบคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมยืนหยัดและพัฒนาต่อไปได้อย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

อ้างอิง : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
https://env.anamai.moph.go.th/web-upload/11xc410600758f76a9b83604e779b2d1de5/202012/m_news/32675/199758/file_download/d0f723e71c6b37674431139975377c2e.pdf


 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar