แนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จับมือเพื่อนบ้านสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

แนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จับมือเพื่อนบ้านสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

 

ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ตั้งเป้าหมายไว้ว่า “ประเทศไทยต้องก้าวสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และยกระดับสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว” โดยมุ่งเน้นการดำเนินตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอันเกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 


ซึ่งหนึ่งในประเด็นหลักที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ คือ การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้เข้มแข็ง ใช้ภูมิประเทศที่มีประเทศเพื่อนบ้านรายล้อมรอบทิศเป็นจุดแข็งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยใช้โอกาสจากศักยภาพของพื้นที่ทำเลที่ตั้งบริเวณชายแดน ผนึกกำลังกับการมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งในส่วนของข้อตกลงและสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดประโยชน์ จับมือร่วมสร้างเศรษฐกิจของประเทศในพื้นที่ชายแดนสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม


โดยพื้นที่ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนั้นประกอบไปด้วย 10 จังหวัดที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ ตาก เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา นราธิวาส และกาญจนบุรี (90 ตำบล ใน 23 อำเภอ)

แนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน


1. กำหนดเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน 
โครงการที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 8 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 ต่ออีก 5 ปี และอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้
ผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับธุรกิจ SMEs เช่น นักลงทุนที่มีการลงทุนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท อนุญาตให้นำเครื่องจักรในประเทศมาใช้ได้ โดยเครื่องจักรต้องมีมูลค่าไม่เกิน 10,000,000 บาท 
โครงการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ก็ยังมีเงื่อนไขพิเศษให้ อาทิ ลดอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จากร้อยละ 20 เหลือเพียงร้อยละ 10 นาน 10 รอบบัญชี
ลดทุนจดทะเบียนของผู้ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป จาก 10,000,000 บาท เหลือเพียง 5,000,000 บาทเท่านั้น 
ลดทุนจดทะเบียนของผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรจากทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 60,000,000 บาท เหลือเพียง 10,000,000 บาท รวมถึงได้ผ่อนปรนเงื่อนไขการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อจูงใจให้นักธุรกิจมาลงทุนมากขึ้น
พัฒนาด่านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้กับการผ่านแดน


2. ต่อยอดการพัฒนาพื้นที่จากทรัพยากรที่มีอยู่เดิม
วางแผนชูจุดเด่นของฐานทรัพยากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดิมในแต่ละพื้นที่ โดยจะผลักดันให้การสนับสนุนและพัฒนา เพื่อยกระดับขีดความสามารถ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ และเศรษฐกิจ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 จังหวัดด้วย


3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดน
    ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างด้านคมนาคม การขนส่ง พลังงาน สาธารณูปโภค สาธารณสุข และการศึกษา จะถูกยกระดับให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ชายแดนคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและสังคมชายแดนลดน้อยลง กลายเป็นเมืองน่าอยู่ที่ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาลงทุน โดยได้วางแผนไว้ว่า 
ในช่วงปีที่ 1 – 5 เน้นการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ เมืองสงขลา 
ในช่วงปีที่ 6 – 10 เน้นการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ เมืองตาก สระแก้ว เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย และมุกดาหาร
ในช่วงปีที่ 16 – 20 เน้นการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ เมืองนครพนม นราธิวาส และตราด


4. ส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างงาน
โดยเน้นงานที่สอดคล้องกับองค์ประกอบของพื้นที่ ไม่ว่าจะศักยภาพของประชาชน ความต้องการของชุมชน รวมถึงโอกาสและความเป็นไปได้ เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 จังหวัดนี้ ให้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ และสร้างรายได้ให้กับพื้นที่


5. ยกระดับการจัดการแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
    จัดทำระบบบัตรผ่านแดนหรือบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ มีประกันสุขภาพ พัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพ และยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เพื่อให้การทางเศรษฐกิจที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งสร้างความมั่นใจได้ว่าแรงงานที่เข้ามาทำงานจะไม่กลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาในภายภาคหน้า 


6. เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเติบโตเป็นพร้อมกับพื้นที่สีเขียว
    แม้เมืองจะเจริญเติบโตขึ้น ภาครัฐก็ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ ให้ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติเติบโตเคียงคู่กันอย่างไม่เป็นสองรองกัน


7. มีกิจกรรมที่พัฒนาขีดความสามารถ
ไม่ว่าจะเป็นความสามารถของประชาชน วิสาหกิจชุมชน ภาคเอกชนในพื้นที่ หรือองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดน ดำเนินไปอย่างก้าวกระโดด มีประสิทธิภาพ มั่นคง และยั่งยืน


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือแนวทางที่ภาครัฐมุ่งมั่นตั้งใจและได้ลงมือทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2564 ซึ่งการพัฒนายังคงดำเนินการต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง แม้จะมีวิกฤตต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยการพัฒนาในระยะต่อไปจะมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการค้า การท่องเที่ยว เร่งดำเนินการกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงผลักดันนโยบายที่จะช่วยให้ภาคเอกชนและกลุ่มธุรกิจ SMEs ให้มาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ทัดเทียมนานาประเทศ กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนมีชีวิตที่อยู่ดีมีความสุข และไม่ได้เติบโตเพียงลำพัง แต่ยังพร้อมจับมือประเทศเพื่อนบ้านก้าวสู่อนาคตที่สดใส ร่วมสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเมื่อวาน

อ้างอิง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5196

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
https://bit.ly/3vFoDWn
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar