ป.ป.ท. เขต 9 จัดอบรมสัมมนา โครงการเครือข่าย ป.ป.ท. เฝ้าระวังการทุจริต "PACC Connect" ประจำปี 2565 ณ จังหวัดพัทลุง

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดการอบรม สัมมนา โครงการเครือข่าย ป.ป.ท. เฝ้าระวังการทุจริต "PACC Connect" ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ หอประชุมอำเภอศรีบรรพต อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง ซึ่งจัดโดย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 9 หรือ ป.ป.ท. เขต 9

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ ที่สะสมในสังคมมานานและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่ง รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ในการผสานพลังของการป้องกันการทุจริตควบคู่กับการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง จึงเห็นผลอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ การรณรงค์ต่อต้านการทุจริต เป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินงานด้านการป้องกันการทุจริต ซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่า รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น สำนักงาน ปปท. เขต 9 โดย กลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ จึงได้จัดโครงการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคประชาสังคม ให้มีความเข้มแข็งในการป้องกันการทุจริตในพื้นที่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับการทุจริตในสังคมไทย การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมกับการป้องกันการทุจริต ได้รับความรู้เรื่องของการส่งเสริมสนับสนุนและการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริต ได้รับทราบถึงการทำงานด้านการป้องกันการทุจริตของ สำนักงาน ป.ป.ท. รวมทั้งจะเป็นเครือข่ายในการต่อต้านการทุจริต ต่อไป

นางประไพพรรณ รัตนะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 9 กล่าวว่า การอบรมสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมต้นแบบ ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และต่อต้านการทุจริตภาครัฐแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนากลไกในการทำงาน โดยบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาสังคมกับ สำนักงาน ป.ป.ท. ในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และปลูกจิตสำนึกเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นในสังคม โดยกำหนดจัดขึ้น 4 ครั้ง ในพื้นที่ จ.พัทลุง 3 ครั้ง และ จ.ปัตตานี 1 ครั้ง เป้าหมายครั้งละ 30 คน รวมเป้าหมายผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 120 คน

 

ข้อมูล https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220518111034444


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar