สธ.สงขลา เตือนประชาชนระวังโรคไข้มาลาเรีย “โนวไซ” แพร่จากลิงสู่คน

นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรคไข้มาลาเรียชนิด “โนวไซ” หรือ Plasmodium knowlesi ซึ่งเป็นโรคที่สามารถแพร่เชื้อจากลิงสู่คนได้ โดยยุงก้นปล่องกัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน ปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่ายุงสามารถนำเชื้อจากคนสู่คนได้ ลิงที่เป็นสัตว์รังโรคในไทย ได้แก่ ลิงกัง ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม และลิงอ้ายเงียะ หากประชาชนที่มีประวัติสัมผัสลิงในป่า มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติเข้าป่า เพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้าอาจจะมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ทำงานในป่า นักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้ง

สำหรับ สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย “โนวไซ” ประเทศไทย พบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อปี 2547 และพบปีละประมาณ 10 รายมาตลอด ในปีงบประมาณ 2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิดนี้แล้ว 70 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน ระนอง (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565) โดย ในพื้นที่เขต 12 พบรายงานผู้ป่วยสูงสุด คือ จังหวัดยะลา จำนวน 22 คน คิดเป็นอัตราป่วย 0.042 ต่อพันประชากร รองลงมาคือ สตูล จำนวน 5 คน คิดเป็น 0.016 ต่อพันประชากร และสงขลา จำนวน 19 คน คิดเป็น 0.013 ต่อพันประชากร โดยจังหวัดสงขลาพบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ อำเภอรัตภูมิ รองลงมาคือ นาทวี สะบ้าย้อย หาดใหญ่ สะเดา ตามลำดับ (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 3 พฤษภาคม 2565)

ทั้งนี้ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มแข็ง โดยใช้เทคโนโลยีการรายงานผู้ป่วยผ่านระบบมาลาเรียออนไลน์ในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจ้งเตือนภัยทุกสัปดาห์ และเมื่อพบผู้ป่วยแต่ละราย มีการใช้มาตรการ 1-3-7 คือ รายงานผู้ป่วย ภายใน 1 วัน ติดตามสอบสวนการป่วย ภายใน 3 วัน และดำเนินการควบคุมกำจัดการแพร่เชื้อโรคไข้มาลาเรีย “โนวไซ”อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใน 7 วันรวมถึงมียารักษาที่เพียงพอ

จังหวัดสงขลา พร้อมดำเนินการสอบสวนโรคผู้ป่วยไข้มาลาเรีย “โนวไซ” ที่พบเพิ่มมากขึ้นอย่างละเอียด เพื่อวางแผนป้องกันควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสำรวจและควบคุมโรคในลิงที่เป็นรังโรคด้วย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ทั้งนี้ หากบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยมีอาการรุนแรงหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถขอความช่วยเหลือจากสายด่วนนเรนทรสงขลา โทร 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข้อมูล https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220510133632790


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar