สสจ.ลำปาง แถลงผลการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 (รอบ 6 เดือนแรก) มั่นใจมีความพร้อมในการบริหารจัดการเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่

นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวว่า นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำปาง ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกำหนดนโยบายเร่งรัดการดำเนินงาน และบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อีกทั้ง จัดระบบการกำกับติดตามงานผ่านศูนย์ปฏิบัติการโรคติดต่อแต่ละระดับ ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดการให้วัคซีนโควิด-19 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ป่วย และการเตรียมความพร้อมศูนย์แยกโรคในชุมชน (Community Isolation) ในทุกตำบล

สำหรับการดำเนินงานวัคซีนโควิด-19 จังหวัดลำปางได้เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีนายอำเภอ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ สำรวจและจัดทำทะเบียนกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนในหมู่บ้าน หรือชุมชน และเคาะประตูบ้านให้คำแนะนำกลุ่มเป้าหมาย รณรงค์เชิญชวนให้มารับบริการวัคซีน โดยระยะที่ 1 (ตุลาคม ถึงธันวาคม 2564) เร่งรัดการให้วัคซีนเข็มแรก แก่ประชาชน “โครงการ 100 วัน 100%” ซึ่งสามารถดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมาย ที่กำหนดร้อยละ 70 ของประชาชนอายุมากกว่า 12 ปี ระยะที่ 2 (มกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน) เร่งรัดการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่ม 608 พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด 19 จังหวัดลำปาง

จากผลงานดังกล่าวทำให้จังหวัดลำปาง ได้รับรางวัลจังหวัดที่มีผลการดำเนินงานให้บริการวัคซีนโควิด-19 ประกอบด้วย รางวัลจังหวัดที่มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็ม 1 ในประชากรกลุ่มเสี่ยง 5 อันดับสูงสุด จากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2564 , รางวัลจังหวัดที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นให้กับผู้สูงอายุดีเด่น จากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 7 เมษายน 2565 และรางวัลจังหวัดที่มีผลงาน ร้อยละกลุ่มเป้าหมาย 607 ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 มากกว่าร้อยละ 80 ระดับเขตสุขภาพที่ 1 ประจำปี 2564 จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 18 มีนาคม 2565

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการดำเนินงานเดือนเมษายน 2565 โดยคาดการณ์ว่าในเดือนเมษายน สถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ และกลุ่มผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีแนวโน้มของอัตราป่วยและตายเพิ่มสูงขึ้น จึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเป้าหมายที่ครบกำหนดฉีดในเดือนเมษายน 2565 จำนวน 190,000 คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (ประมาณ 80,000 คน) ซึ่งได้ขยายการให้บริการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง และรณรงค์ให้บริการเชิงรุกในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงให้มากที่สุด

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำปาง ได้กำหนดนโยบายการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยสั่งการให้ทุกตำบลสำรวจและเตรียมความพร้อมศูนย์แยกโรคในชุมชน (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่ามีความพร้อมของศูนย์แยกโรคในชุมชน (Community Isolation) จำนวน 172 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 5,794 คน และได้มีการรับผู้ติดเชื้อไว้ในศูนย์ เช่น อำเภอเมือง อำเภอเถิน อำเภอแม่เมาะ และอำเภอแจ้ห่ม เป็นต้น

ทั้งนี้ จังหวัดลำปางได้เริ่มดำเนินการเปิดระบบการรักษาแบบ “ผู้ป่วยนอกร่วมกับการแยกกักตัวที่บ้าน Outpatient with Self Isolation (OPSI)” ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นมา ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งมีการเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยทุกวันไม่เว้นวันหยุด ผ่านระบบสายด่วนโดยทีม 3 หมอ (มีแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวเป็นที่ปรึกษา) และใช้แนวปฏิบัติเดียวกันทั้งจังหวัดในการดูแลผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน 2565 พบว่ามีผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 คาดการณ์ว่าแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการเตรียมความพร้อมด้านการรักษา โดยบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยอาการรุนแรง (สีแดง) ที่โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลเกาะคา และโรงพยาบาลเถิน จำนวน 54 เตียง และผู้ป่วยปอดอักเสบไม่รุนแรง (สีเหลือง) จำนวน 158 เตียง และพร้อมที่จะขยายได้อีก 72 เตียง ทั้งโซนเหนือ กลางและใต้ มีการจัดทำแผนหมุนเวียนบุคลากรจากโรงพยาบาลทุกแห่งเพื่อให้เพียงพอต่อการจัดบริการ รวมถึงการเตรียมความพร้อมทรัพยากรอื่น ๆ ที่จำเป็น ได้แก่ ยา และชุดอุปกรณ์ป้องกัน PPE ให้เพียงพอต่อการใช้งาน โดยคาดว่าหากสถานการณ์การเจ็บป่วยเป็นไปตามการคาดการณ์ สถานบริการทุกแห่งในจังหวัดลำปางมีความพร้อมในการจัดบริการรองรับเพื่อดูแลรักษาประชาชนชาวลำปางได้อย่างเต็มที่

ข้อมูล https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220423105855806


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar