สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และปลัดมหาดไทย จับมือ 15 องค์กรเดินหน้ายุทธศาสตร์ “ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” เฟส 2 สร้าง ONE TEAM มีพระสงฆ์ร่วมปลุกพลังความรู้รักสามัคคี ความเอื้ออาทร

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และปลัดมหาดไทย จับมือ 15 องค์กรเดินหน้ายุทธศาสตร์ “ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” เฟส 2 สร้าง ONE TEAM มีพระสงฆ์ร่วมปลุกพลังความรู้รักสามัคคี ความเอื้ออาทร มุ่งพัฒนาวัดและชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ ฯ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และปลัดมหาดไทย จับมือ 15 องค์กรเดินหน้ายุทธศาสตร์ “ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” เฟส 2 สร้าง ONE TEAM มีพระสงฆ์ร่วมปลุกพลังความรู้รักสามัคคี ความเอื้ออาทร มุ่งพัฒนาวัดและชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาจิตใจสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมของวัดและชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่วัดพุทธแสงธรรม ต.หนองนาก อ.หนองแค จ.สระบุรี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นประธานการประชุมชี้แจงแผนยุทธศาสตร์โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) พร้อมมอบโล่รางวัล พัดเกียรติยศ และเกียรติบัตร วัดต้นแบบ ประจำปี พ.ศ. 2565 และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (MOU) โดยมี พระธรรมรัตนาภรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข พระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระเทพวัชรเมธี, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด พระเถรานุเถระ กว่า 1,000 รูป นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายแมนรัตน์รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้แทนส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย รวมกว่า 1,000 คน ร่วมในพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการ "โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข" ระหว่างมหาเถรสมาคม, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, กรมอนามัย กรมประชาสัมพันธ์,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ และบริษัท เนเจอร์กิฟ จำกัด

เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าวสัมโมทนียกถาใจความสำคัญว่า โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นหนึ่งในงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยมุ่งพัฒนาวัดและชุมชนให้เรียบร้อยรื่นรมย์ เป็นศูนย์การเรียนรู้และการพัฒนาจิตใจของประชาชน มีแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 หัวใจของโครงการ คือ กลไกการสร้างสายสัมพันธ์ความร่วมแรงร่วมใจกันของวัด ชุมชน และภาคเครือข่ายในท้องถิ่นด้วยอุดมการณ์ร่วมกัน คือ ศรัทธาปสาทะในบวรพระพุทธศาสนา และเจตจำนงให้วัดเป็นสถานที่สัปปายะ เป็นสถานที่พักแก่ผู้เข้ามาพึ่งพาบำบัดทุกข์และเสริมสร้างความสุขทั้งแก่กายและใจ อันจะนำไปสู่ความวัฒนาสถาวรของชาติและสถาบันพระพุทธศาสนา โดยหวังว่า โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข จะนำไปสู่การพัฒนาวัดและชุมชนให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการมรดกวัฒนธรรมของวัดให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในวันนี้ เป็นการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ระยะที่ 2 ที่เจ้าคณะผู้ปกครอง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นอาทิ ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเสมอมา ดังที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายตั้งแต่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คนที่ 14 และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 ส่งผลทำให้โครงการฯ นี้มีภาคีเครือข่ายขยายผลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยน่าอนุโมทนาเป็นอย่างดี

"โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ระยะที่ 2 นี้ได้มีแผนงานไว้ทั้งหมด 5 หมวด หมวดที่ 1 คือ การบริหารจัดการโครงการ มีนโยบาย 7 ข้อ หมวดที่ 2 การพัฒนาพื้นที่ภายในวัด 9 ประการ หมวดที่ 3 การส่งเสริมสุขภาวะ สุขภาพ และการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัด และบริเวณใกล้เคียง หมวดที่ 4 การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม และหมวดที่ 5 การจัดการพื้นที่ทางจิตใจและปัญญา ทั้งหมดนี้ เมื่อประมวลรวมแล้ว จะทำให้เห็นว่า เมื่อพื้นที่ทางจิตใจสะอาดก็จะเกิดปัญญา หรือเรียกว่า เมื่อจิตใจสะอาด สว่าง และสงบ จะทำให้เกิดปัญญา โดยทั้ง 5 หมวดนี้ เป็นการดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566 - 2570 จึงขอฝากอนุกรรมการและหน่วยงานภาคีทั้งหลายที่จะขับเคลื่อน ให้ยึดเป็นหลักทั้ง 5 หมวดนี้ไปดำเนินการอย่างเต็มกำลัง ทำให้พุทธศาสนิกชนเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธทั้งในทะเบียนราษฎรและในจิตใจ ทำให้พระสงฆ์ได้เป็นผู้นำด้านคุณธรรมจริยธรรมอย่างแท้จริง เพราะชาติไทยเป็นชาติที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง หลอมรวมความเป็นชาติ ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ จะเกิดผลดีผลงามกับประเทศชาติและพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ด้วยความตั้งใจของทั้ง 15 หน่วยงานที่จะพากันเดินไปด้วยความมุ่งมั่นเช่นนี้อย่างยั่งยืน" เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับเมตตาอย่างสูงยิ่งจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม ในการร่วมลงนาม MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยมีท่านปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย และภาคีเครือข่าย ร่วมลงนาม ซึ่งจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนในครั้งนี้นั้น ตนได้รับเมตตาจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ร่วมลงนาม MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ตั้งแต่ปี 2561 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คนที่ 13 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดให้มีการลงนาม MOU ร่วมกับท่านเจ้าอาวาสวัดในท้องถิ่นทั่วประเทศสำเร็จแล้วกว่า 7,800 แห่ง ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งที่เราได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่ากระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือของทุกภาคส่วนในลักษณะ Partnership บูรณาการความร่วมมือทำงานร่วมกันกับทุกกระทรวง ทุกกรม ในระดับพื้นที่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการรวมทีมให้เป็น ONE TEAM ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ทว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด กระทรวงมหาดไทยก็ต้องใช้เวลาฉันนั้น ด้วย Passion ในการมุ่งพัฒนาความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ขับเคลื่อนส่งเสริมกลไกการพัฒนานายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ เป็น "ผู้นำ" การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความร่วมมือภาคประชาชนให้ทำงานร่วมกับคณะสงฆ์ ภายใต้โครงการ "อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน" โดยเชื้อเชิญภาคีเครือข่ายในพื้นที่ หนึ่งในนั้นก็มี "ผู้นำทางศาสนา" ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย เพราะพระสงฆ์ ดำรงฐานะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนอันส่งผลต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ หรือเรียกว่าเป็น ครู คลัง ช่าง หมอ รวมถึงด้านการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างทุนในการประกอบสัมมาอาชีพ หรือที่รู้จักกันในนาม OTOP ซึ่งมีอธิบดีกรมการปกครองและกรมการพัฒนาชุมชน มาร่วมลงนามในวันนี้ด้วย" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ร่วมลงนาม MOU กับองค์การสหประชาชาติ (UN) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมบทบาทนายอำเภอทุกอำเภอ ขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย UN SDGs ทั้ง 17 ข้อ อันเชื่อมโยงสอดคล้องกับการลงนาม MOU กับคณะสงฆ์ในวันนี้ กล่าวคือ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นการบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สู่การ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นได้นั้น "พระสงฆ์" ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีในจิตใจของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" โดยส่งเสริมการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยทุกบ้านจะช่วยกันดูแลปลูกพืชผักสวนครัวในรั้วบ้านให้อุดมสมบูรณ์ ดูแลพื้นที่บ้านให้สะอาด ดูแลบุตรหลานให้ได้ศึกษาเล่าเรียนและเป็นคนดี ให้การช่วยเหลือผู้ที่หลงผิดติดยาเสพติดหรืออบายมุขให้กลับมาเป็นคนดีด้วยพลังของคนในชุมชน และที่สำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัด คือ ทุกอำเภอต้องทำให้พี่น้องประชาชนในชุมชนร่วมมือกับคณะสงฆ์ ราชการ และคนในชุมชน มาร่วมพูดคุยปรึกษาหารือเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคิดหาหนทางในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน อาศัยการพบกันอย่างสม่ำเสมอ เสมือนพระที่เดินเยี่ยมธุดงค์ญาติโยม โดยต้องลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ที่มีตัวอย่างผลสำเร็จ เช่น พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย และวัดป่าศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ที่พระสงฆ์เป็นผู้นำการขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายในการฟื้นฟูป่า น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ หรือเช่นที่วัดถ้ำกระบอก ที่พระสงฆ์เป็นผู้นำในการบำบัดดูแลรักษาผู้ติดยาเสพติด อันเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคม ให้กับประชาชน

“ขอยืนยันว่าการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เฟส 2 นี้ จะเป็นการบูรณาการงานของทุกกระทรวงและจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อที่จะให้เกิดสิ่งที่ดีในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องมีพระสงฆ์เป็นกำลังสำคัญ เพื่อทำให้จิตใจของพี่น้องประชาชนอันเป็นเครื่องบ่งชี้พฤติกรรมของผู้คนในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ปลุกพลังความรู้รักสามัคคี ความเอื้ออาทร เกื้อการุณ จึงขอนิมนต์พระคุณเจ้าทุกรูปได้ช่วยเป็นธุระในการเปิดรับให้ท่านนายอำเภอและข้าราชการในพื้นที่ทุกคนได้มีโอกาสในการไปขอคำปรึกษาขอความเมตตาเพิ่มเติม เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับพื้นที่ สร้างความผาสุกให้กับทุกตำบลหมู่บ้าน เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ที่มา : 

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar