ปกท.ทส. ลงพื้นที่ร่วมติดตามมาตรการรับมือแล้ง จังหวัดตราด พร้อมเดินหน้าบูรณาการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ รองรับ EEC

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ ลงพื้นที่ร่วมกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และรับฟังผลการดำเนินโครงการแก้มลิงหนองฉุงใหญ่  อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด อีกทั้ง รับทราบสถานการณ์น้ำ และผลการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ทั้งในมิติการพัฒนาและการอนุรักษ์ฟื้นฟูเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชน ทั้งนี้ จังหวัดตราด มีแผนงาน/โครงการ ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตาม พรบ.งบประมาณปี 66 จำนวน 6 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ พื้นที่รับประโยชน์ 3,060 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 608 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 0.03 ล้าน ลบ.ม. ส่วน จ.จันทบุรี มีแผนงาน/โครงการ ภายใต้งบบูรณาการฯ ตาม พรบ.ปี 66 จำนวน 24 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ พื้นที่ได้รับประโยชน์  12,966 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,873 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 81.08 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังมีแผนงานโครงการสำคัญ จำนวน 5 โครงการ 8,106 ล้านบาท ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 140 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่รับประโยชน์ 77,600 ไร่  ได้แก่ อ่างฯ คลองวังโตนด อ่างฯคลองตาพลาย อ่างฯคลองโป่งน้ำ อ่างฯคลองเครือหวาย และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บอ่างฯแก่งหางแมว


โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ เร่งสำรวจและก่อสร้างโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอย่างเต็มศักยภาพให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อีกทั้ง มอบหมายให้ สทนช. อำนวยการและกำกับดูแลโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และกำกับติดตามให้เป็นไปตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแหล่งน้ำสำรองหรือแหล่งน้ำทางเลือกอื่น ๆ เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก สำหรับพื้นที่ EEC ให้เร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ ได้กำชับให้จังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือในการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ และเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำให้เป็นรูปธรรมและยกระดับคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน พร้อมเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชน เพื่อความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ที่มา : http://www.mnre.go.th/th/news/detail/147052


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar