สกสว. จัดประชุม STO Forum วางเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2566 ร่วมกับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุม Science and Technology Organization Forum (STO Forum 8)” ครั้งที่ 1/2566 โดยเชิญผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยจำนวน 12 หน่วยงานที่สังกัดกระทรวง อว. ร่วมรับฟังและให้ความเห็น สรุปการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. ที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน STOs โดย ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. และ ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการการขับเคลื่อนการยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เริงชัย ตันสุชาติ  หัวหน้าโครงการวิจัยโครงการการขับเคลื่อนการยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกสว.ได้ จัดประชุม STO Forum มาอย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 8 เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่จะช่วยกันมองไปข้างหน้า พร้อมกับกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดย สกสว. จะเก็บเกี่ยวรวบรวมทุกความคิดเห็นนำไปพิจารณาและดำเนินการให้คล้องกับยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2566 – 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดด โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ต่อไป ด้าน ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. กล่าวถึงผลสรุปการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผ่านมาว่า สกสว.ได้ดำเนินการจัดประชุม STO Forum เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่าง สกสว.และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย และ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยความเห็นของที่ประชุมนำไปสู่จุดมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดทำแผนด้าน ววน. ของ สกสว. ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. ให้ใช้ดำเนินการประกอบการจัดสรรงบประมาณในปี 2566-2570  รวมทั้งข้อเสนอแนะจากที่ประชุมเกี่ยวกับข้อจำกัดของการใช้งบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน Fundamental Fund  (FF)  ในหน่วยงานต่างๆ ที่ทาง สกสว. ได้เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) จนกระทั่งสามารถปลดล๊อคกรอบงบประมาณค่าใช้จ่ายหมวดครุภัณฑ์ เป็นไม่เกิน 20 % ของงบประมาณรวมของหน่วยงาน จากเดิมที่ไม่เกิน 10% ของงบประมาณรวมของหน่วยงาน  นอกจากนั้นยังได้เสนอให้ที่ประชุมได้เห็นความสำคัญของการติดตามประเมินผลเพื่อการเบิกจ่ายงวดเงินงบประมาณ การตรวจสอบการนำเข้าข้อมูลในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) และการร่วมนำส่งผลงานเด่นของหน่วยงาน เพื่อสื่อสารผลการดำเนินงานโดยการสนับสนุนของกองทุน ววน. ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณของสำนักงบประมาณ และการพิจารณาคำของบประมาณของกองทุน ววน. โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี (สภาผู้แทนราษฎร) ที่ สกสว.จะนำไปดำเนินการต่อไป ในส่วนนี้ จำเป็นต้องขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ช่วยสื่อสารถึงผลงานของกองทุน ววน. ด้วย เพื่อให้ภาคการเมืองได้ตระหนัก และ เห็นความสำคัญต่อการจัดสรรงบประมาณ เพื่อลงทุนด้าน ววน. ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เริงชัย ตันสุชาติ กล่าวถึงโครงการการขับเคลื่อนการยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ ว่า เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของโลก โดยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานตัวชี้วัดของความสำเร็จ Benchmark Parameters การสร้าง Metrices ที่จะนำไปสู่การยกระดับสถาบันกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการออกแบบกลไกให้สถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพันธกิจและเป้าหมายของหน่วยงานที่จะนำไปสู่การยกระดับให้เทียบเคียงกับระดับนานาชาติ ทั้งในส่วนของการเปรียบเทียบผลลัพธ์ (Result Benchmarking) การดำเนินการหรือการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น ที่เป็นทั้งคู่แข่งและที่ไม่ใช่คู่แข่ง เช่น ร้อยละของผลผลิตเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งที่เป็นต้นทุนและผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้หาช่องว่าง ประสิทธิภาพ ระหว่างองค์กรของตนเองและคู่แข่ง และ Practice Benchmarking เกี่ยวกับการรวบรวมและเปรียบเทียบข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับวิธีที่กิจกรรมถูกจัดการผ่านคน, กระบวนการ และเทคโนโลยี ว่าต้องการอะไร ได้อะไร เพื่อนำมาปรับปรุงองค์กรของตนเอง โดยทั้งหมดนี้ตนในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย และ สกสว. จะนำข้อคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมในวันนี้ไปปรับผลการวิเคราะห์และข้อสรุปจากงานวิจัยเพื่อให้สามารถนำมาใช้ยกระดับการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของระบบ ววน. ต่อไป

image รูปภาพ
image
image
image
image

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar