ร่วมสร้างชุมชนต้นแบบปลอดมลพิษ บอกลาวิกฤตฝุ่นควัน

ร่วมสร้างชุมชนต้นแบบปลอดมลพิษ บอกลาวิกฤตฝุ่นควัน
                    หมอกควัน คือ การรวมกันของเม็ดฝุ่นขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า PM2.5  และกลุ่มควันต่าง ๆ ที่คนกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ของไทยในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนทางภาคเหนือของประเทศต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤติหมอกควันอยู่บ่อยครั้ง จะมองเห็นหมอกควันชัดในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง ทำให้หลาย ๆ คน เริ่มมีอาการผิดปกติในระบบร่างกายจนกลายเป็นความวิตกกังวล  เช่น ดวงตาทำให้แสบตา ระคายเคือง ตาแดง หรือทำให้ถึงขั้นตาบอดได้หรือไม่ 
                    แม้สังคมทั่วไปส่วนใหญ่จะรับรู้ถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดเม็ดฝุ่นขนาดเล็กมาจาก การเผาในที่โล่ง การถางเผาวัชพืชในพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ เพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ ตลอดการเผาผลาญพลังงานทั่วไป ไม่ว่าจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม บริเวณที่กําลังก่อสร้าง และการเผาขยะ  หรือคุณภาพอากาศจากประเทศเพื่อนบ้าน หากมีการสูดดมบ่อย ๆ เป็นระยะเวลานานย่อมทำให้มีโอกาสเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้
                    จากการลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนต้นแบบ 20 ตำบล ครอบคลุมภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และอุตรดิตถ์ ของ สสส. และ กรมควบคุมมลพิษ สานพลังภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น พบว่า หมอกควันในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มเกิดเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคม และจะบรรเทาเบาบางลงเมื่ออากาศร้อนขึ้นประมาณเดือนเมษายน แต่การเผาในที่โล่ง ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในพื้นที่ทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว ที่สำคัญ คือสุขภาพ…
                    จากรายงานโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) พบว่า ปี 2565 พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีจำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นรวม 17,258 จุด และมีพื้นที่เผาไหม้สะสมรวม 2,376,648 ไร่ ดังนั้นการส่งเสริมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่ชุมชนจะรับผลกระทบโดยตรง ควรมีส่วนร่วมในการวางแผน ออกแบบ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาวะ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง…
                    เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ต.ทุ่งฝาย อ.เมือง จ.ลำปาง ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สานพลังภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ร่วมตั้ง “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง” 9 จังหวัดภาคเหนือ มุ่งเป้าบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า
                    ครั้งนี้มี นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และผู้เกี่ยวข้อง ที่ได้เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนต้นแบบ ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง”ในครั้งนี้
                    สาระสำคัญในการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง” เพื่อลดปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากฝุ่นควันที่เกิดจากการเผา และ เสริมองค์ความรู้แก่พื้นที่ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร รวมถึงการให้ความรู้แก่ชุมชนในด้านการแปรรูปเชื้อเพลิงเพื่อนำวัสดุจากการเกษตรมาใช้ประโยชน์ ลดการเผาตามมาอีกด้วย
                    ผสมผสานสอดรับกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ที่ได้ติดตามปัญหาไฟป่า หมอกควันในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุพบว่า… ในแผนเฉพาะกิจด้านมลพิษเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ฝุ่นลดลงมากกว่า 60% ซึ่งลดลงเรื่อย ๆ ล้วนมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
                    หากสภาพอากาศในช่วงหน้าหนาว หนาวยาวนานมากขึ้นเท่าใด อากาศจะแห้ง ฉะนั้นมีความเสี่ยงในการสะสมของฝุ่นละอองทำให้เกิดผลกระทบเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องลดการเผาในที่โล่งเพื่อลดปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากฝุ่นควันและทำให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
                   นายปิ่นสักก์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักใน 17 จังหวัดของภาคเหนือ คือ การเผาวัสดุทางการเกษตรในที่โล่ง ปัจจุบันนอกจากจะห้ามเผาแล้ว ทางกรมควบคุมมลพิษอยากจะนำวัสดุทางการเกษตรมาส่งเสริมทำให้เกิดรายได้ในพื้นที่ซึ่งจะยั่งยืนมากกว่า และการที่ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมถึงชุมชนต่าง ๆ นำวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้มาทำประโยชน์ให้คนในชุมชนได้มีรายได้แทน เช่น การทำปุ๋ย หรือก้อนเชื้อเพลิง จึงตรงกับจุดประสงค์ดังกล่าว
                    นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวเสริมว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีจุดรอยการเผาสูงมาก ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเผาเพราะขจัดวัสดุทางการเกษตรง่ายที่สุด แต่การเผาก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นมาก ดังนั้นการลงมาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และภาคีเครือข่ายร่วมรณรงค์ลดการเผาในที่โล่งด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิง  ล้วนสนับสนุนชุมชนต้นแบบลดการเผาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ของประชาชน โดย สสส. ส่งเสริมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
                    และการให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน ออกแบบ รวมทั้งสนับสนุนชุมชนต้นแบบลดการเผาในที่โล่งด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน มั่นใจว่าเดินมาถูกทางแล้วสิ่งสำคัญสุดของคนในชุมชน คือ การมีสุขภาพที่ดี
                    “ดังนั้นการจัดตั้ง “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง” นำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ดังกล่าว ที่ สสส. ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สภาลมหายใจภาคเหนือ  (สภน.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และจังหวัดลำปาง จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในภาพรวม” นายชาติวุฒิ กล่าว
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar