สบยช. เตือนสตรีที่นิยมเที่ยวหรือทำงานในสถานบันเทิง ไม่ควรรับอาหารหรือเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า เสี่ยงต่อการถูกมอมยา

สบยช. เตือนสตรีที่นิยมเที่ยวหรือทำงานในสถานบันเทิง ไม่ควรรับอาหารหรือเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า เสี่ยงต่อการถูกมอมยา

กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนสตรีที่นิยมเที่ยวยามค่ำคืนหรือต้องทำงานในสถานบันเทิง ระมัดระวังตนเอง ไม่ควรรับอาหารหรือเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้าอาจเป็นเหยื่อถูกมอมยาได้

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันเรามักจะได้รับทราบข่าว การถูกมอมยา

เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญากรรมหรือคุกคามทางเพศบ่อยครั้ง ซึ่งตัวยาที่ใช้มักจะเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กลุ่มยานอนหลับ หรือยาระงับประสาท กลุ่มยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ซึ่งมีคุณสมบัติออกฤทธิ์เร็วหลังจากการใช้

ไม่เกิน 30 นาที ละลายได้ดีในน้ำ ง่ายต่อการผสมในเครื่องดื่ม ทำให้มึนงง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม ร้อนวูบวาบ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่มีสติ หรือสลบได้ และทำให้ผู้ถูกวางยาสูญเสียความทรงจำไปชั่วขณะ ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเหล่านี้อันตรายมาก มีฤทธิ์กดการหายใจ และเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งนี้หากมีการใช้ในปริมาณมากร่วมกับยานอนหลับซึ่งออกฤทธิ์ทำให้หลับเร็ว หรือใช้ร่วมกับสารเสพติดอื่นๆ หรือผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผู้ถูกวางยาเสียชีวิตได้

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ยาหรือสารเสพติดต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญกรรมหรือมอมเมาผู้อื่น มีความผิดตามกฎหมาย และมีผลต่อร่างกายเหยื่อ ร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้ เตือนกลุ่มสุภาพสตรีที่นิยมเที่ยวหรือต้องทำงานในสถานบังเทิงให้ระมัดระวังตนเองให้มาก อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี หลีกเลี่ยงการเสพยาและสารเสพติดทุกชนิด ไม่รับอาหารหรือเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า รวมถึงไม่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีได้ผสมสิ่งใดลงในเครื่องดื่มและนำมาให้ดื่ม ทั้งนี้ต้องสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ชิดหากพบอาการผิดปกติ

เช่น คลื่นไส้อาเจียน มึนงง เดินเซ หายใจลำบาก มีอาการคล้ายเมาสุราแม้ไม่ได้ดื่มหรือดื่มไปเพียงเล็กน้อย ต้องรีบพาตัวเองหรือคนใกล้ชิดออกจากสถานที่ดังกล่าว และรีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.pmnidat.go.th

ข้อมูล กรมการแพทย์


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar