สคร.9 ห่วงเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก เตือนครูพี่เลี้ยง ผู้ปกครอง ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อากาศเย็นลงและมีความชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบบ่อยในช่วงนี้ ประกอบกับเป็นช่วงที่เด็กๆ เปิดเทอม และมีการรวมตัวกัน ดังนั้น สคร.9 จึงฝากเตือนครูพี่เลี้ยง ผู้ดูแลเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระวังป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า หรือตุ่มแผลในปาก ควรแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ และไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป

ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคมือ เท้า ปาก ว่า เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สำหรับอาการของโรคมือ เท้า ปาก จะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย 1 ม.ค. ถึง 20 ก.ย.65 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรค มือ เท้า ปาก จำนวน 67,124 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนสถานการณ์ของโรค มือ เท้า ปาก ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค - 17 ก.ย.65 มีรายงานผู้ป่วยรวม 10,534 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 3,478 ราย รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 3,365 ราย จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2,554 ราย และ จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1,137 ราย ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 3 ปี รองลงมาคือ อายุ 2 ปี และอายุ 1 ปี ตามลำดับ

นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี กล่าวต่อไปว่า แนะนำให้ครูพี่เลี้ยง ผู้ดูแลเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลและสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้ คือ 1.ลดการสัมผัสเชื้อ ไม่นำมือที่สกปรกสัมผัสใบหน้า เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือ แล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้เชื้อกระจายสู่ ผู้อื่นได้ 2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ และเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท 3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ 4.หากบุตรหลานป่วย ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยไม่พาเด็กป่วยไปในสถานที่แออัด แยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูล 

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar