สภากาชาดไทย จัดโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครสอนเสริม เพื่อใช้ชุดฝึกทักษะการอ่าน เขียนภาษาไทย ด้วยเทคนิคสแกฟโฟลดิงของเหล่ากาชาดจังหวัด ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย ประจำปีงบประมาณ 2565

วันนี้ (19 ก.ย.2565) นายกฤษฎา บุญราช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครสอนเสริม เพื่อใช้ชุดฝึกทักษะการอ่าน เขียนภาษาไทย? ด้วยเทคนิคสแกฟโฟลดิงของเหล่ากาชาดจังหวัด ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยมี นางละมัย เจริญโสภา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง กล่าวรายงาน ณ โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อ.เมืองตรัง สภากาชาดไทย ได้ขอความร่วมมือนายกเหล่ากาชาดจังหวัดทุกจังหวัดขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย มาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากโรงเรียนในพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะนั้นต้องหยุดการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ทำให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 - ป.6 ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทย

ซึ่งนายกเหล่ากาชาดจังหวัดที่มีความพร้อมก็ให้เข้าร่วมกับหน่วยงานการศึกษาดำเนินการสรรหาอาสาสมัครในพื้นที่ไปช่วยสอนเสริมด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทยให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนเป้าหมายในช่วงนอกเวลาเรียนจากชั้นเรียน ด้วยเหตุผลดังกล่าวสภากาชาดไทยจึงได้มอบหมายให้คณะทำงานทางวิชาการแก้ไขปัญหาด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทย นำโดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กรรมการสภากาชาดไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ

โดยมีหน่วยงานภายนอกร่วมเป็นคณะทำงานฯ ประกอบด้วย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถาบันรามจิตติ โดยมีหน้าที่ศึกษาค้นหาวิธีการรูปแบบ ที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา ตลอดจนสร้างและผลิตเครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการให้กับนายกเหล่ากาชาดจังหวัด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คณะทำงานทางวิชาการได้ผลิตคู่มือที่จะใช้ในโครงการจนเกือบแล้วเสร็จทุกประเภทแล้ว การจัดโครงการฝึกอบรมการใช้คู่มือ (Scaffolding) ให้กับอาสาสมัครสอนเสริมของเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง ในครั้งนี้ จะใช้เวลารวม 2 วัน ระหว่างวันที่ 8 – 9 กันยายน 2565

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้คู่มือการสอนเสริมภาษาไทยด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาจุดอ่อนการใช้ภาษาไทยของนักเรียนเป็นรายคน โดยใช้เทคนิค Scaffolding และเพื่อพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับวิธีการ รูปแบบการสอนเสริมภาษาไทยด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาจุดอ่อนการใช้ภาษาไทยของนักเรียน (Scaffolding) อย่างเต็มรูปแบบให้แก่อาสาสมัครสอนเสริมของเหล่ากาชาดจังหวัดตลอดจนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้คู่มือการสอนเสริมภาษาไทยดังกล่าวกับผู้แทนหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม ในครั้งนี้ มีจำนวน 72 คน

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220919103904865


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar