ไทยผลักดันแนวคิดการแพทย์บูรณาการ มุ่งเป็นศูนย์กลางด้านการดูแลสุขภาพ

การที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักว่าการแพทย์สมัยใหม่และหลักปฏิบัติในการป้องกันตัวเองมีความสำคัญเท่าเทียมกันในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและมีสุขภาวะที่ดี ประเทศไทยซึ่งเพียบพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพและสุขภาวะ ประกอบกับมีชื่อเสียงในด้านผู้เชี่ยวชาญมากทักษะ จึงพร้อมบรรลุเป้าหมายในการเป็น "ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพของโลก" โดยไทยได้ผลักดันบริการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมและสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้บริโภคที่ต้องการดูแลทั้งกายและใจ

ในปี 2564 ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ในดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security Index) โดยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (John Hopkins University) จากความสามารถในการรับมือกับการระบาดใหญ่ ขณะที่ดัชนีการดูแลสุขภาพ (Health Care Index) ประจำปี 2564 โดยนิตยสารซีอีโอ เวิลด์ (CEO World) ก็ยกให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 13 เมื่อประเมินจากปัจจัยด้านสุขภาพโดยรวม

ราคาที่สมเหตุสมผล ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์คุณภาพสูง ศูนย์บริการดูแลสุขภาพระดับเวิลด์คลาส และบริการสุขภาพอันยอดเยี่ยม ล้วนมีส่วนทำให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพของไทยเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ โดยก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ข้อมูลจากสตาทิสตา (Statista) ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมีมูลค่าราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 2.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 โดยบริการทางการแพทย์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดประกอบด้วยบริการทางการแพทย์ทั่วไปและศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูกที่มีความซับซ้อน การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) บริการทันตกรรม และการตรวจสุขภาพ

คุณโจเอล เอ รูส (Joel A Roos) รองประธานฝ่ายการรับรอง การปรับปรุงคุณภาพ และความปลอดภัยระหว่างประเทศของสถาบันเจซีไอ (Joint Commission International หรือ JCI) จากสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับวารสารอินเตอร์เนชันแนล ทราเวล แอนด์ เฮลท์ อินชัวรันซ์ (International Travel & Health Insurance Journal) ว่า "ภาคการดูแลสุขภาพของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณวุฒิและพร้อมดูแลเอาใจใส่ ประกอบกับศูนย์ให้บริการมาตรฐานระดับเวิลด์คลาส ทั้งนี้ จากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลกว่า 370 แห่งนั้น มี 60 แห่งที่ได้รับการรับรองจากเจซีไอ ณ เดือนธันวาคม 2564 ทำให้ไทยติดท็อป 5 ของโลกในแง่ของจำนวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากเจซีไอ"

ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งเช่นนี้ ประเทศไทยจึงมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 10 ด้าน ได้แก่ การฟื้นฟูและชะลอวัย การแพทย์ทางเลือก วิทยาศาสตร์หัวใจ กล้ามเนื้อและกระดูก บริการทันตกรรม การทำเด็กหลอดแก้ว การรักษาโรคมะเร็ง การผ่าตัด จักษุวิทยา (โรคต้อกระจก) และการแพทย์แม่นยำ

ปัจจุบัน การบำบัดรักษาแบบดั้งเดิม เช่น การนวดแผนไทยและยาสมุนไพร กำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นทั่วโลก ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งในไทยได้เชื่อมช่องว่างระหว่างการรักษากับการป้องกัน ทำให้การดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการขนานนามว่า "เมืองหลวงสปาแห่งเอเชีย" จากการมอบประสบการณ์ด้านสุขภาพระดับดีเยี่ยม ซึ่งผสมผสานแนวทางการบำบัดแบบดั้งเดิมที่หลากหลายเข้ากับเทคโนโลยีสุขภาพที่ล้ำสมัย

ด้วยตระหนักถึงประโยชน์ของการแพทย์ทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการป้องกันและบำบัดรักษาแบบองค์รวม รัฐบาลไทยจึงส่งเสริมยาสีเขียว (Green Medicine) เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมการรักษาโดยอาศัยมรดกด้านการแพทย์แผนโบราณที่สืบทอดมายาวนาน ปัจจุบันกำลังมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบและพัฒนาสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับและบูรณาการเข้ากับบริการดูแลสุขภาพสมัยใหม่ต่อไป

ถึงเวลาเปิดรับวิธีการดูแลสุขภาพทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ เพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1885843/DITP_Medical_release_F1.jpg
 


image รูปภาพ
image

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar