สาธารณสุขปากน้ำเตือนหน้าฝนระวังบริโภคเห็ดพิษ อันตรายถึงตายได้
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เตือนประชาชน ในช่วงหน้าฝนระวังเห็ดพิษ หากบริโภคอาจมีอันตรายถึงชีวิต
นายแพทย์วีรพล นิธิพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปี จะมีผู้ป่วยจากการบริโภคเห็ดพิษ โดยบางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการบริโภคเห็ดในช่วงฤดูฝน ลักษณะของเห็ดที่ไม่ควรบริโภค ได้แก่ เห็ดที่เป็นสีน้ำตาล เห็ดที่มีหมวกเห็ด สีขาว เห็ดที่มีปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูปๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมองหรืออานม้า เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์
ผู้ที่รับประทานเห็ดพิษส่วนใหญ่จะมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ง่วงนอน ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ปวดท้องอย่างรุนแรงหรือท้องเดิน บางรายที่มีร่างกายอ่อนแอหรือเป็นโรคภูมิแพ้ก็อาจจะเป็นอันตราย ถึงเสียชีวิตได้ คำแนะนำควรปฏิบัติดังนี้ กินอาหารที่ประกอบด้วยเห็ดแต่พอควร อย่ากินจนอิ่มเกินไป เพราะเห็ดย่อยยาก อาจทำให้ผู้มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ต้องคัดเห็ดที่เน่าเสียออกก่อนนำไปปรุงอาหาร เพราะเห็ดที่เน่าเสียทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ อย่ากินอาหารจากเห็ดที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้กินจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ เมื่อกินหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ในภายหลัง อย่ากินเห็ดพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์ เห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันทีหากดื่มสุราภายหลังด้วยภายใน 48 ชั่วโมง การดื่มสุราเข้าไปจะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น
อาการพิษของเห็ดจะแสดงอาการหลังกินหลายชั่วโมง ซึ่งพิษกระจายไปมากแล้ว จึงจำเป็นต้องรู้วิธี ปฐมพยาบาลก่อนส่งแพทย์ ต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และดูดพิษโดยใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่านดื่ม 2 แก้ว แก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาก่อน แล้วดื่มแก้วที่ ๒ ล้วงคอให้อาเจียน อีกครั้ง นำส่งแพทย์พร้อมตัวอย่างเห็ด ห้ามล้างท้องต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น เพราะวิธีนี้เป็นอันตราย ต่อผู้ป่วยหากร่างกายขาดน้ำ